โครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามขนาดไหน ?
สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือเพิ่งเผยแพร่รายงานว่า เกาหลีเหนือได้เดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่โรงงานนิวเคลียร์ยองบอน ซึ่งปิดตัวลงเมื่อปี 2550 อย่างเต็มกำลังอีกครั้ง และกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณ พร้อมประกาศว่า พร้อมจะเผชิญหน้ากับความเป็นปรปักษ์ของสหรัฐฯด้วยอาวุธนิวเคลียร์ทุกเมื่อ การประกาศศักดาของเกาหลีเหนือก่อให้เกิดคำถามว่า อาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวมีศักยภาพเพียงใด และเกาหลีเหนือมีท่าทีจริงจังขนาดไหน
ศ.จอห์น เดลูรีย์ แห่งมหาวิทยาลัยยอนเซ บอกว่าสื่อของเกาหลีเหนือรายงานอยู่เนือง ๆ เรื่องที่เกาหลีเหนือใช้ถ้อยคำชวนทะเลาะกับทั้งสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และบางครั้งก็ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งยากที่จะรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ที่เกาหลีเหนือจะเอาจริง แต่หากย้อนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างตอนที่เกาหลีเหนือยิงปืนใหญ่ถล่มเกาะยอนพยองของเกาหลีใต้เมื่อปี 2553 ก็ถือได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า หากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ประเมินขีดความสามารถของเกาหลีเหนือต่ำเกินไป และไม่คิดว่าเกาหลีเหนือจะเอาจริงนั้น จะทำให้ทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เองเป็นฝ่ายที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่า การประกาศเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ที่เมืองยองบอนอีกครั้งนั้น จะทำให้เกาหลีเหนือผลิตพลูโตเนียมได้ราว 6 กก./ปี ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ 1 ลูก ขณะที่แอนเดรีย เบอร์เจอร์ แห่ง Royal United Services Institute ในกรุงลอนดอน เห็นว่า การที่ชาติใดชาติหนึ่งขู่ว่าจะทำสงครามนิวเคลียร์นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล และคำขู่จากเกาหลีเหนือก็เช่นกัน
เกาหลีใต้เองเคยทดสอบเศษชิ้นส่วนจรวดที่เกาหลีเหนือใช้ ตอนที่ปล่อยดาวเทียมพร้อมขีปนาวุธพิสัยไกลลูกแรกขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เมื่อปลายปี 2555 พบว่าอาจมีพิสัยยิงได้ไกลถึง 10,000 กม. และสหรัฐฯ ก็อยู่ในรัศมีดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ดี ยังมีหลักฐานเพียงน้อยนิดที่ชี้ว่า เกาหลีเหนือได้พัฒนาระบบนำวิถีที่จะทำให้โจมตีได้อย่างแม่นยำ หรือมีเทคโนโลยีที่ใช้ยิงขีปนาวุธข้ามทวีปได้ตรงเป้า
นักวิเคราะห์ยังเห็นว่า ไม่มีอะไรยืนยันว่าเกาหลีเหนือมีขีดความสามารถมากพอที่จะโจมตีสหรัฐฯ ด้วยอาวุธนิวเคลียร์เพราะเป็นเรื่องยากที่จะประเมินคำกล่าวอ้างของเกาหลีเหนือที่ว่า สามารถผลิตอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กพอจะติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ไว้ที่ขีปนาวุธได้ อย่างไรก็ดี แม้เกาหลีเหนือจะสามารถยิงขีปนาวุธเพื่อโจมตีได้จริง ๆ สหรัฐฯ ก็ยืนกรานตลอดเวลาว่า สามารถจะยิงสกัดกั้นได้ ทั้งเพื่อป้องกันตนเองและพันธมิตร
สำหรับศักยภาพด้านกองทัพนั้น เกาหลีเหนือมีกองกำลังกว่า 1.1 ล้านนาย แต่เชื่อว่าอาวุธยุทโธปกรณ์นั้นใช้งานมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียตและอยู่ในสภาพย่ำแย่ อย่างไรก็ดี เกาหลีเหนือได้วางกำลังปืนใหญ่ไว้ตลอดแนวเขตปลอดทหาร โดยข้อมูลจากสถาบันยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศประเมินว่า หน่วยทหารของกองทัพเกาหลีเหนือราว 60% และกองกำลังปืนใหญ่ราว 80% ตั้งอยู่ภายในรัศมี 100 กม.ของเขตปลอดทหาร ขณะที่กรุงโซลของเกาหลีใต้ก็อยู่ใกล้แค่เอื้อมเท่านั้น
ภาพประกอบ (ล่าง) แผนภาพแสดงพิสัยยิงของขีปนาวุธรุ่นต่างๆของเกาหลีเหนือ