0

ลุ้นข่าวเขย่าโลก! ทีมวิทยาศาสตรชั้นนำนัดแถลงในวันพฤหัสบดี ลือค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง สอดคล้องกับทฤษฎีของไอน์สไตน์ เล็งอาศัยปรากฏการณ์นี้มองย้อนเวลาจนถึงบิกแบงต้นกำเนิดจักรวาล  
เอเอฟพีรายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (แคลเทค), สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที), และหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วง Laser Interferometer Gravitational Wave Observatory (ลิโก) จะเปิดการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี เกี่ยวกับความคืบหน้าในการค้นหาคลื่นความโน้มถ่วง
ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ทำนายไว้ตั้งแต่เมื่อ 100 ปีก่อน ว่า ในจักรวาลมีคลื่นความโน้มถ่วงดำรงอยู่ มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐฯเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยนี้ในสหรัฐฯ 
การแถลงข่าวจะมีขึ้นที่ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติในกรุงปารีส และที่กรุงลอนดอน ในเวลาเดียวกัน
การนัดหมายสื่อมวลชนครั้งนี้โหมกระพือข่าวที่เล่าลือในหมู่นักวิทยาศาสตร์มานานหลายเดือน ว่า ทีมวิจัยของลิโกตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงได้โดยตรงแล้ว  
คลื่นดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวัตถุที่มีมวลมหาศาล เช่น หลุมดำ ดาวนิวตรอน มีการเคลื่อนที่ การเคลื่อนไหวนั้นจะส่งแรงรบกวนออกไปยังกาล-อวกาศ อุปมาคล้ายคลื่นที่เกิดขึ้นเมื่อเราปาก้อนหินลงบนผืนน้ำ หรือเมื่อเราหย่อนของหนักๆลงบนผืนตาข่ายที่รองรับ แรงกระเพื่อมนี้ทำให้กาล-อวกาศเกิดภาวะงอโค้ง
วงการวิทยาศาสตร์ร่ำลือว่า ทีมลิโกได้สังเกตหลุมดำ 2 ดวงชนกัน และหลอมรวมเข้าด้วยกัน ทำให้ตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วง
การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงจะช่วยให้นักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์สามารถไขปริศนาของปรากฏการณ์ได้หลายอย่าง เช่น การหลอมรวมของดาวนิวตรอน พฤติกรรมของหลุมดำที่ใจกลางกาแล็กซีต่างๆ
ทัค สเต็บบินส์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ความโน้มถ่วง ศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด องค์การนาซา บอกว่า จักรวาลถูกขับเคลื่อนด้วยแรงโน้มถ่วง คลื่นนี้กระเพื่อมผ่านตัวเราอยู่ตลอดเวลา
“ถ้าพบคลื่นความโน้มถ่วง เราจะสามารถอาศัยความโค้งของกาล-อวกาศมองย้อนไปจนถึง ณ เวลาหนึ่งในล้านล้านของวินาทีแรกที่เกิดการระเบิดบิกแบงได้” เขาอธิบายกับเอเอฟพี “ไม่มีหนทางอื่นที่มนุษยชาติจะได้เห็นปฐมกำเนิดของเอกภพ”
กาเธอรีน ม็อง นักดาราศาสตร์ของหอสังเกตการณ์ โกต์ ดาซูร์ ในประเทศฝรั่งเศส บอกว่า คลื่นความโน้มถ่วงจะช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาเนื้อในของดาวฤกษ์ และไขปริศนาเกี่ยวกับต้นตอของการปะทุของรังสีแกมมาในจักรวาลได้
เมื่อปี 2536 นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน 2 คน คว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ หลังจากค้นพบวัตถุที่ปล่อยรังสีเป็นห้วงๆ หรือพัลซาร์ จำพวกใหม่ ซึ่งถือเป็นการค้นพบแรงความโน้มถ่วงโดยทางอ้อม.

Source: AFP

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top