เลขาฯกรธ.ชี้ นักกฎหมายประเทศพัฒนาแล้ว ต้องไม่ยึดติดรูปแบบ มุ่งความเป็นธรรม
ปกรณ์ นิลประพันธ์ สมุนมือขวามีชัย รองเลขากฤษฎีกา
"นักกฎหมายประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ยึดติดแบบ เผยประชาชนไม่ต้องการ รธน. แต่ต้องการ ความเป็นธรรม-เสมอภาค-โปร่งใส"
อ่านแล้วทุเรศ ดูเหมือนจะแย้งเรื่องที่ร่างมีชัยตัดคำว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ในมาตรา 4 เดิม "ไม่ได้ทำแบบว่าลอกๆ กันมาโดยไม่ลืมหูลืมตา ทำนองว่ามันเคยมีคำนี้ มันก็ต้องมีคำนี้ต่อๆ กันไปจนชั่วฟ้าดินสลาย ถ้าไม่มีคือมันหายไป มันผิดบ้าง ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมคำนี้ถึงใส่เข้ามา แต่ต้องมี เพราะของเก่ามันมี ใส่เข้ามาแล้วมันก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร ไม่เคยประเมิน impact assessment กันเลย ใส่แล้วมันทำให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม (better lives) หรือไม่ หรือมันจะวนกลับไปเกิดปัญหาเดิมหรือไม่"
คำๆนี้มีความหมาย เพราะมันอยู่ในบททั่วไป "มาตรา ๔ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง" ที่เขียนมาตั้งแต่ปี 40 อยู่ในบททั่วไปที่เป็นความหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (เป็นราชอาณาจักรที่แบ่งแยกไม่ได้ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน) แล้วหมวดอื่นๆ จึงมาขยาย เช่น หมวดสิทธิเสรีภาพ มาขยายมาตรา 4 ทั้งมาตรา หมวดรัฐสภา หมวดคณะรัฐมนตรี หมวดศาล มาขยายอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย แม้ดูเหมือนคำพูดลอยๆ แต่มันแสดงศักดิ์ สถานะ ของ "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค" ในรัฐธรรมนูญ ว่าสำคัญเทียบเท่า "ประเทศเป็นราชอาณาจักรที่แบ่งแยกไม่ได้"
อ.วรเจตน์อธิบายว่านี่เป็นเรื่องลำดับศักดิ์ความสำคัญในกฎหมาย มีชัย ปกรณ์ ก็รู้ดี เมื่อลดความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ จึงตัดมาตรา 4 ออกจากบททั่วไป แต่มาตะแบงว่าเป็นแค่คำพูดที่ไม่มีความหมาย ความเป็นจริงคือจงใจ เพราะรัฐธรรมนูญ รสช.2534 ที่มีชัยร่าง ก็ไม่มีมาตรานี้
ส่วนที่อ้างว่าประชาชนไม่ต้องการรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการความเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส นี่เลอะเทอะ รัฐธรรมนูญที่แท้จริง (ที่ไม่ใช่อย่างมีชัย ปกรณ์ เขียน) คือหลักนิติรัฐ ที่เป็นหลักประกันความเสมอภาค ความยุติธรรม การใช้กฎหมายเสมอหน้ากัน ไม่ 2 มาตรฐาน แล้วถามว่าที่เขียนมานี่เป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส ตรงไหน อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้เต็มไปหมด
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น