0

พูดโกหก กับ พูดชี้นำให้เข้าใจผิด ต่างกันอย่างไร ?
รายการวิทยุ The Philosopher’s Arms ที่ออกอากาศทางวิทยุเรดิโอโฟร์ ในอังกฤษ พูดคุยกันถึงเส้นแบ่งบาง ๆ ที่แยกการพูดเท็จทั้งสองแบบออกจากกัน บีบีซีไทยสรุปประเด็นที่น่าสนใจมาแบ่งปันค่ะ
“ผมต้องการให้ฟังผมนะ ผมจะพูดเรื่องนี้อีกครั้ง ผมไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงคนนั้น...นางสาวลูวินสกี้” นี่เป็นคำกล่าวของนายบิล คลินตัน ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่า นี่เป็นโกหกคำโตที่สุดในการเมืองสมัยใหม่ใช่หรือไม่ ? หรือว่านายคลินตันทำให้ตัวเองเชื่อแบบนั้นจริง ๆ ในตอนที่กล่าวประโยคนี้ออกมาเมื่อปี 2541 ว่าความสัมพันธ์ทางสรีระกับนางสาวลูวินสกี้ ไม่ได้มีนัยถึง “ความสัมพันธ์ทางเพศ” อย่างไรก็ตาม หากตีความโดยวัดจากความเข้าใจของคนทั่วไปเรื่อง “ความสัมพันธ์ทางเพศ” แล้วจะพบว่า คำกล่าวของนายคลินตันเป็นการชี้นำให้เข้าใจผิด
ทุกวันนี้ หากนักการเมืองถูกจับได้ว่าโกหก โดยอ้างว่าเรื่องที่กล่าวนั้นเป็นเรื่องจริง ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเท็จ อาจถือได้ว่าเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง หรืออย่างน้อยก็ส่งผลเสียให้กับผู้พูดได้
ยกตัวอย่าง นางฮิลลารี คลินตัน ในสมัยที่ลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมเครตเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2551 นั้น นางฮิลลารีถูกโจมตีอย่างมากในกรณีที่ได้กล่าวว่า เครื่องบินที่นั่งมาต้องลงจอดในบอสเนียในช่วงสงครามกลางเมืองยูโกสลาเวีย เพราะถูกพลแม่นปืนส่องยิง นางฮิลลารีไม่เคยยอมรับว่าโกหก เพียงแต่กล่าวว่าได้พูดผิดไป
ผู้สื่อข่าวชี้ว่า ปัญหาของนักการเมืองคือพวกเขามักตกอยู่ในสถานะที่การพูดความจริงอาจกลายเป็นปัญหาได้ พวกเขาอาจมีข้อมูลที่เป็นความลับ หรืออาจกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาและเปิดเผยข้อมูลไม่ได้ หรืออาจมีฝ่ายที่ต้องเสียหน้าหรือเกิดความเสียหายร้ายแรงตามมา หรือการพูดความจริงนั้นอาจเป็นประโยชน์ต่อชาติที่เป็นศัตรู ดังนั้นจึงต้องปกปิดไว้ แต่บางครั้งความจริงก็เป็นยาขมที่ผู้ฟังไม่ต้องการได้ยิน ทั้งนี้ นักการเมืองต่างต้องการได้รับเลือกตั้ง และการบอกในสิ่งที่คนอยากได้ยิน ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าการพูดความจริงที่เจ็บปวด
เนื่องจากนักการเมืองโกหกไม่ได้ แต่บ่อยครั้งพวกเขาก็พูดความจริงไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องปรับแต่งคำพูดให้อยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างความจริงกับเรื่องโกหก นี่เป็นปรากฎการณ์ในวงการเมืองประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร
นิโคโล มาเคียเวลลี นักการทูตและนักปรัชญาชาวอิตาลี ระบุไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง “เจ้าผู้ปกครอง” (The Prince) ซึ่งถูกจัดว่าเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญสำหรับวงการรัฐศาสตร์สมัยใหม่ว่า “บางครั้งคำพูดมีไว้ใช้เพื่อบดบังข้อเท็จจริง” ขณะที่นายเดเมียน แมคไบรด์ อดีตที่ปรึกษาของนายกอร์ดอน บราวน์ สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษ พูดถึงการชี้นำทางการเมืองให้เข้าใจผิดว่าเป็น “การโกหกโดยไม่โกหก” และเป็น “การใช้พรสวรรค์เพื่อเลี่ยงการกล่าวความจริง โดยไม่โกหก”
นายแมคไบรด์เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่ง ก่อนหน้าการแถลงงบประมาณประจำปี 2548 ว่า มีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งส่งรูปภาพเอกสารของทางการ พร้อมกับตัวเลขที่ดูเหมือนว่าเป็นตัวเลขเงินกู้ในปีงบประมาณใหม่มาให้และถามว่า “ตัวเลขนี้ถูกต้องหรือไม่ ?” นายแมคไบรด์ตอบไปว่าเกือบถูกต้อง แต่ยังไม่ใช่เสียทีเดียว ผู้สื่อข่าวชี้ว่าในกรณีนี้ นายแมคไบรด์สามารถบอกนักข่าวไปได้ว่า ไม่ใช่ตัวเลขเงินกู้ในบัญชีงบประมาณ โดยไม่ถือว่าโกหก และนักข่าวก็ไม่ได้นำข่าวดังกล่าวไปเผยแพร่ ในตอนนั้นนายบราวน์เกรงว่า หากมีการเผยแพร่ตัวเลขดังกล่าวออกไป เขาอาจจะต้องลาออกจากตำแหน่ง แต่นายแมคไบรด์บอกว่า “นายบราวน์ไม่ต้องลาออก และต่อมาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี”
ผู้สื่อข่าวชี้ว่า ศาสตร์ของการชี้นำให้เข้าใจผิด เป็นเรื่องที่นักปรัชญาเรียกว่า “ความหมายนัยแฝงในบทสนทนา” เช่น ในการลงประชามติ นักการเมืองคนหนึ่งอาจพูดว่า “หากประชาชนลงคะแนน “เห็นด้วย” ฉันจะลาออก” แต่นักการเมืองคนนี้ไม่ได้หมายความว่า หากประชาชนลงคะแนน “ไม่เห็นด้วย” ก็จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่นี่เป็นเพียงการพูดให้คนเข้าใจไปเช่นนั้นเอง
เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา นายยานิส วารูฟาคิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกรีซบอกว่า เขาจะลาออก หากคนกรีกลงประชามติยอมรับข้อเรียกร้องจากประเทศเจ้าหนี้ ทีต้องการให้ใช้มาตรการรัดเข็มขัด ผลการลงประชามติออกมาว่า คนกรีกไม่รับข้อเรียกร้องนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นายวารูฟาคิสก็ลาออกในที่สุด
ผู้สื่อข่าวบอกว่า ในแง่จริยธรรม นักปรัชญายุคใหม่มีความเห็นแตกต่างกันไปในเรื่องที่ว่า การโกหกกับการชี้นำให้เข้าใจผิด เป็นเรื่องบนบรรทัดฐานเดียวกันหรือไม่ เพราะในแง่หนึ่งแล้ว เจตนาของการพูดชี้นำให้เข้าใจผิด ก็เป็นเจตนาเดียวกันกับการลวงให้ผู้ฟังเชื่อเรื่องเท็จ
โจนาธาน เว็บเบอร์ อาจารย์สอนปรัชญาที่มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ชี้ว่า การหลอกลวงทุกรูปแบบถือว่าเป็นเรื่องผิด แต่การโกหกเป็นการหลอกลวงที่เลวร้ายที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของผู้พูด หากนักการเมืองพูดโกหกและถูกจับได้ ความไว้เนื้อเชื่อใจในนักการเมืองคนดังกล่าวจะหดหายไป หากนักการเมืองคนนี้เพียงพูดชี้นำให้เข้าใจผิด ประชาชนอาจไม่ไว้ใจในคำพูดที่มีนัยแฝงในครั้งต่อมา แต่ก็ไม่เสมอไปว่าจะไม่ไว้ใจนักการเมืองคนดังกล่าวเสียทีเดียว เพราะไม่มีเหตุผลที่จะพิสูจน์ได้ว่า นักการเมืองคนนี้โกหก การโกหกนั้นทำลายชื่อเสียงมากกว่าการพูดชี้นำ
อย่างไรก็ตาม นายแมคไบรด์ซึ่งทำงานด้วยการใช้คำพูดที่ชี้นำให้คนเข้าใจผิด ไม่เห็นด้วยกับนายเว็บเบอร์ เขาเห็นว่าการโกหกโดยไม่โกหก ไม่ได้ดีไปกว่าการโกหกอย่างซึ่ง ๆ หน้า เขาชี้ว่านักการเมืองยุคใหม่ชี้นำให้ประชาชนเข้าใจผิดอยู่ทุกวัน และเรื่องนี้เชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่ว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ความไว้วางใจในนักการเมืองเสื่อมถอยลง และมีการใช้คำพูดในลักษณะพูดไม่ครบเกือบทุกเรื่องในชีวิต เช่น นักการเมืองแอบมีบ้านเล็กบ้านน้อย ติดการพนันและยาเสพติด นักการเมืองมีเรื่องต้องปกปิดซุกซ่อนตลอดเวลา เพราะว่าการพูดชี้นำให้เข้าใจผิดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตนักการเมืองไปแล้ว
ในสหราชอาณาจักร สส. ถูกห้ามไม่ให้เรียกเพื่อนนักการเมืองด้วยกันว่า คนโกหก เพราะถือว่าเป็นคำพูดไม่เหมาะสมที่จะใช้ในสภา และถือเป็นการสบประมาทขั้นร้ายแรงที่สุด แต่จะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หากใช้คำว่า “พูดชี้นำให้เข้าใจผิด” แทน
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) ภาพแรกนายคลินตันกับนางสาวลูวินสกี้, ภาพ 2 นายแมคไบร์ดกับนายบราวน์เมื่อปี 2550, ภาพ 3 ตึกรัฐสภาอังกฤษ



แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top