สมคิดขายฝันนักลงทุนญี่ปุ่น รัฐประหารในประเทศนี้ของธรรมดา อย่าตกใจ เชิญมาลงทุนรับสิทธิพิเศษ
ขอเบรกให้หัวทิ่มหน่อยเหอะ รัฐประหารครั้งนี้ไม่เหมือนทุกครั้ง ถ้าประยุดอ้างว่ารัฐประหารเพราะจะเป็น "รัฐล้มเหลว" ทุกวันนี้ก็เป็นอยู่แล้ว เพียงแต่ค้ำไว้ด้วยปากกระบอกปืน ไม่มีทางลงจากอำนาจกลับสู่การเลือกตั้งได้ หนำซ้ำ ยิ่งใช้อำนาจมาก อำนาจยิ่งบาดลึก
ในบทความพูดอ้อมๆ พุดตรงๆ คือรัฐประหารครั้งนี้ใช้อำนาจมากมาย มากเกิน และจะนำไปสู่การ "ลบล้างผลพวงรัฐประหาร"
การเมืองจะเปลี่ยน ไอ้ที่เคยพูดๆ กัน "ไม่จองล้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด" "ไม่แก้แค้นแต่แก้ไข" ไม่มีอีกแล้ว
ประเทศไทยอยู่ในยุคสมัยที่ "ปลาอานนท์กำลังจะพลิกตัว" ญี่ปุ่นอยากมาสร้างทางรถไฟก็เชิญ ความขัดแย้งในสังคมมาถึงขีดสุด จบไม่ลง ไม่เหมือนอดีต แม้แต่ยุค 6 ตุลา เพราะมวลชนเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งมากมายกว่า เป็นสิบล้านคน มีลักษณะทางชนชั้น ที่แก้ไม่ได้ด้วยแค่คำว่า "ลดเหลื่อมล้ำ" ในเชิงเนื้อหา ก็เป็นความขัดแย้งระหว่างเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน กับค่านิยมจารีต ศีลธรรมดั้งเดิม (ที่จริงอยู่ด้วยกันได้แต่ไม่ยอมปรับตัว)
ความขัดแย้งครั้งนี้เอาชนะกันไม่ง่าย แม้ไม่ได้จับปืนเข้าป่ามาสู้กันตรงๆ แต่เผลอๆ จะเสียหายมากกว่า เพราะม้วนทุกภาคส่วนทุกองค์กรสถาบันมาอยู่ในเหว อยู่ในภาวะล้มละลายทางความเชื่อถือ ล้มละลายทางการเมืองไปด้วยกัน ซึ่งมันแย่และมองไม่เห็นอนาคตยิ่งกว่าประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่กำลังจะพยายามปรับตัว อย่างพม่า เวียดนาม หรือบูร์กินาฟาโซ

00000

"เวลามีข่าวปฏิวัติถามว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะคนไทยยังยิ้มแย้มแจ่มใส ยืนยันว่าเราดูแลท่านแน่นอน"

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พูดกับนักลงทุนญี่ปุ่น หมายดึงมาลงทุน "ซูเปอร์คลัสเตอร์" เว้นภาษี 10-15 ปี ทั้งยังหวังดึงมาสร้างรถไฟมาบตาพุด-ทวาย โดยจะไปโรดโชว์ใน 1-2 เดือนนี้

ก็แน่ละครับ นักลงทุนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับคนไทยดี ตั้งแต่ยุคโกโบริ ยุคสฤษดิ์ ยุคป๋า การเมืองเปลี่ยนยังไงก็ไม่สะดุ้งสะเทือน ตั้งแต่สมัยธีรยุทธ บุญมี, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นที่ห้างไดมารู จนเกิด 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35 ธีรยุทธเปลี่ยนไป ประสารเป็นใหญ่ สินค้าญี่ปุ่นก็ยิ่งเป็นที่นิยมของคนไทย ตั้งแต่รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ไปถึงชาบู ซูชิ ตั้งแต่หนังสือการ์ตูนไปถึงหนังเอวี (ฮา)

ว่าแต่ว่า 10 ปีมานี้ประเทศไทยเหมือนเดิมหรือเปล่า คนไทยยังยิ้มแย้มแจ่มใสจริงหรือเปล่า

หรือ อะไรที่ญี่ปุ่นไม่เคยเห็นก็ได้เห็น เช่นชาวสยามยิ้มแสยะ ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ปิดถนน ปิดห้าง ฆ่ากัน เลือดนอง ยึดเมืองครึ่งปี ขัดขวางเลือกตั้ง โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

เอาละ นั่นมันก่อนรัฐประหาร แต่มั่นใจหรือว่าใช้ ม.44 บังคับให้มีความสงบ แล้วเดินแนวทาง "ประชารัฐ" สร้างเศรษฐกิจฐานรากกับหมอประเวศ วะสี จะนำประเทศนี้ย้อนไปเป็นสุขเหมือนยุคหมีเซียะยังเป็นสาว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจพูดถูกว่าถ้าท่านไม่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ประเทศนี้ก็จะเป็น "รัฐล้มเหลว" แต่ถามว่าปีกว่าผ่านไป เราพ้นภาวะนี้หรือยัง หรือเพียงแต่ไม่ล้มเพราะ ม.44 เป็นไม้ค้ำ และต้องค้ำไปเรื่อยๆ

การยุติความขัดแย้งด้วยกองทัพ ใช้อำนาจปิดกั้นความเห็นต่าง ทำให้ไม่มีทางกลับสู่เลือกตั้งได้ เลือกตั้งเมื่อไหร่ความ ขัดแย้งก็จะปะทุอย่างร้อนแรง รัฐธรรมนูญจะร่างอย่างไร เมื่อไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย เทวดาหน้าไหนก็ไม่มี ทางร่างให้ยอมรับได้ทุกฝ่าย ทำประชามติเมื่อไหร่ ก็ขัดแย้งอยู่ดี

งั้นให้คสช.อยู่เกิน 2 ปีเลยไหม อยู่ได้ก็อยู่ไปสิครับ ไม่มีใครไล่ท่านออกจากประเทศไทยได้หรอก เพียงแต่ท่านจะอยู่ใน dilemma คือไม่สามารถลงจากอำนาจได้ อยู่นานไปก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น แต่ลงไม่ได้จริงๆ เพราะยิ่งอยู่นาน ยิ่งใช้อำนาจ ยิ่งบาดลึก ก็ยิ่งต้องวิตกว่าจะถูกตลบกลับ "ลบล้าง" หลายสิ่งหลายอย่างที่ทำไว้ในวันหน้า

ผมจึงเชื่อเต็มอกว่าท่านไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ อยากให้พ้นไปโดยเร็ววัน แต่มันลงไม่ได้จริงๆ

การเมืองไทยกำลังจะเปลี่ยนไป ที่เคยพูดว่า "ไม่ไล่ล่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด" หรือ "ไม่แก้แค้นแต่แก้ไข" ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง เหลือแต่จะแหลกลาญแค่ไหนเท่านั้น

รัฐประหารครั้งนี้ไม่ เหมือนทุกครั้งในอดีต ที่นักลงทุนญี่ปุ่นต่างชาติคุ้นเคย ความขัดแย้งอาจมีส่วนคล้ายยุคขวาพิฆาตซ้าย 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 ซึ่งหลังจากอำนาจนำเห็นว่า "บ้านเมืองวุ่นวาย" ก็ทำรัฐประหาร แต่เมื่อสถานการณ์บานปลาย "รัฐบาลหอย" ขวาโต่งเกินไป ก็รัฐประหารแก้ไขเมื่อปี 2520 จนนำไปสู่นโยบาย 66/23 ยุติสงครามกลางเมือง

แต่รอบนี้ถ้าจะเทียบกัน รัฐประหาร 2549 ก็คล้าย 2519 ผ่านไป 9 ปีมีรัฐประหารอีกครั้งยังไม่เห็นทางยุติความขัดแย้งเลย เพราะความขัดแย้งครั้งนี้ใหญ่โตกว้างขวางกว่า มีมวลชนแต่ละข้างแบ่งภาคแบ่งชนชั้นนับสิบล้าน ความขัดแย้งครั้งนี้ลึกซึ้งซับซ้อนกว่า เพราะเป็นจุดปะทะระหว่างคุณค่าทางประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม กับความเชื่อศรัทธา คุณค่าดั้งเดิมที่ยึดถือในสังคมไทย

แถมความขัดแย้งครั้งนี้ ยังเอาชนะกันยากกว่า สร้างความเสียหายกว่าครั้งไหนๆ ถึงไม่ได้จับปืนเข้าป่าฆ่ากันตรงๆ แต่ทำสงครามวาทกรรมตั้งแต่ในสื่อไปถึงในศาล ลากทุกภาคส่วนในสังคมลงเหว ประเทศไม่ได้เว้นวรรคแค่การเลือกตั้ง แต่ยังสูญเสียตรรกะ เหตุผล บุคลากร และองค์กรที่สั่งสมความเชื่อถือมานาน

นี่เป็นภาวะล้มละลาย ทางการเมืองยิ่งกว่าประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย อย่างพม่า เวียดนาม ลาว ฯลฯ กระทั่ง บูร์กินาฟาโซยังพอจะเห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางที่ดี

พูดอีกอย่าง ต่อให้ใครล้มคสช.ลงได้วันนี้พรุ่งนี้ความ ขัดแย้งก็ไม่ยุติ นี่คือปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ล้วนเข้าใจว่าต่างจากปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา

source :- FB Autikkit Sawangsuk &  http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1443107098
 
Top