นโยบาย Single Gateway ของรัฐบาลเป็นอีกตัวอย่างของการทำตรงข้ามกับสิ่งที่บอกว่าอยากจะทำให้เกิด ตั้งแต่ปีที่แล้วที่มีเรื่องกฏหมายเศรฐกิจดิจิตอลแต่พอไปดูจริงๆ แล้วเป็นกฏหมายความมั่นคงซะเกือบหมด นโยบาย Single Gateway เป็นนโยบายที่ขัดกับความต้องการของประชาชนโดยสินเชิง และขัดกับแนวทาง Digital Economy ที่ภาครัฐโม้นักโม้หนามาตั้งแต่ต้น
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ Gateway กันก่อน Gateway คือประตูสำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของประเทศไทยออกไปสู่โลกภายนอก เราสามารถดู Youtube ศิลปินต่างประเทศได้ เราสามารถเล่น Facebook  ได้เพราะเรามี Gateway ที่เป็นประตูออกสู่โลกภายนอก (ของอินเทอร์เน็ต) เพราะข้อมูลของ Youtube และ Facebook และเว็บอื่นๆ อีกมากมายไม่ได้ตั้งอยู่ในไทย จึงต้องมีการรับส่งข้อมูลข้ามประเทศ
ข้อเสียของ Single Gateway มีอยู่มากมาย และแต่ละข้อไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
เริ่มจากข้อแรกที่ผมโดยส่วนตัวให้ความสำคัญมากนั้นคือสิทธิเสรีภาพของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ไม่ว่าใครจะพูดว่าอย่างไรสุดท้ายแล้วราคาของ Single Gateway คือการเสียสิทธิเสรีภาพด้านขอมูลส่วนตัวของผู้ใช้ มันเป็นการยกให้คนไทยกลุ่มหนึ่ง (ข้าราชการที่จะมีหน้าที่ดูแลงานด้านนี้) มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลของผู้อื่นได้ แม้แต่ในประเทศที่มี Gateway มากที่สุดในโลก และมีกฏหมายและวัฒนธรรมของสิทธิเสรีภาพอย่างอเมริกา เมื่อเกิดหน่วยงานความมั่นคงอย่าง NSA ขึ้นมาหน่วยงานก็เริ่มใช้อำนาจแบบผิดๆ และเกินตัว การสูญเสียสิทธิเสรีภาพจึงมักจะเป็น “slippery slope” คือถ้าเริ่มยอมเสียเพียงเล็กน้อย ก็มีความเสี่ยงสูงว่าจะเสียมากขึ้นไปอีก
เรื่องที่ผู้ใช้น่าจะสนใจที่สุดคือความเร็วและความมั่นคงของการใช้ internet ถ้าเกิด single gateway และข้อมูลต้องผ่านการตรวจสอบก่อนได้รับการรับส่งก็จะทำให้ความเร็วลดลง และตัว single gateway จะต้องมีความสามารถในการรับรับมือกับข้อมูลจำนวนมากที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน
ต่อให้วันพรุ่งนี้มีเทวดาลงมาเนรมิต gateway นี้ให้เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้มีอะไรมารับประกันว่าแล้วหลังจากนั้นภาครัฐจะมีความสามารถในการบริหารและต่อเติมเพื่อให้ single gateway นี่พร้อมรับมือกับการความต้องการที่มากขึ้นทุกวัน การลงทุน gateway ไม่ใช่ของราคาถูก และการบริหารไม่ใช่ของง่าย แค่รวมที่มีอยู่ไว้ด้วยกันก็น่าจะเป็นโครงการหลายหมื่นล้านแล้ว
อย่าลืมว่าแต่ก่อน บริษัท กสท โทรคมนาคม ในฐานะการสื่อสารแห่งประเทศไทย คือผู้ให้บริการแต่เพียงผู้เดียว แล้วในยุคนั้นก็ไม่ได้ขยาย gateway ได้ทันตามความต้องการของเศรฐกิจ
จนกระทั่งเกิดคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ซึ่งปัจจุบันคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เข้ามากำหนดหลักเกณฑ์ให้ใบอนุญาตประเภทที่ 3 และเริ่มมีบริษัทเอกชนเข้ามาขอรับใบอนุญาตเพื่อให้บริการ Gateway เช่น กลุ่มบริษัททรู กลุ่มบริษัทจัสมิน ถือเป็นกลุ่มแรกๆ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการอยู่ประมาณ 13 Gateway

จะว่าไปประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเต็มไปด้วยความล้มเหลวของภาครัฐที่ต้องรอการเปิดตลาดให้เอกชนเข้ามาลงทุนถึงเดินหน้าไปได้ ใครที่อายุมากคงเคยเจอกับปัญหาเมื่อหลายสิบปีก่อน สมัยรัฐผูกขาดโทรศัพท์บ้าน จะได้แต่ละเครื่องต้องรอกันหลายเดือน ต้องจ่ายเงินเป็นหมื่น (รวมถึงการจ่ายใต้โต๊ะ) ถ้าจะดูเร็วๆ นี้ก็เห็นอยู่ว่า TOT ได้คลื่น 2100 MHz ไปก่อนใครแบบฟรีๆ แล้ว 3G ของ TOT เป็นยังไงบ้างเมื่อเทียบกับการให้บริการของภาคเอกชน? แต่แล้ววันนี้เราอยากเดินถอยหลังลงคลอง?
ส่วนความมั่นคงของ internet ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าจำกันได้ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลที่ไต้หวัน ส่งผลให้สายเคเบิลใต้น้ำขาด และสายเคเบิลนี้เองที่เชื่อมต่อกับ Gateway ของประเทศไทย ส่งผลให้อินเทอร์เน็ตทั้งประเทศช้าลงไปครึ่งต่อครึ่ง นั่นเพราะประตูที่ใช้ออกจากบ้าน ถูกตัดขาดไปทางหนึ่ง อินเทอร์เน็ตจากทั้งประเทศจึงวิ่งไปออกอีกประตูที่เหลือ นั่นคือ เหตุผลว่า ทำไม Gateway จึงไม่ควรมีเพียงจุดเดียว เพราะบ้านยังมีทางออกสำรองไว้
ความเสี่ยงทั้งด้านความเร็วและความมั่นคงทำให้ Single Gateway ขัดกับประกาศการจะเป็น Digital Hub จะเป็น Data Center Hub บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไหนเขาจะอยากมาตั้งฐานอยู่ในประเทศที่ internet มีความเร็วต่ำและมีความเสี่ยงต่อการขัดข้อง? สิงค์โปรเขามีความพร้อมกว่ามาก จะมาไทยทำไม?
อีกส่วนหนึ่งที่อาจไม่ทันคิดคือ บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เช่น 004 005 006 และ 009 ซึ่งเป็นบริการโทรศัพท์แบบ VOIP โทรผ่านโดยใช้โครงข่าย Gateway อาจมีผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะใช้ผ่าน Gateway เดียวกับอินเทอร์เน็ต ขณะที่บริการ 001 ซึ่งเป็นบริการโทรศัพท์แบบ IDD หรือ International Direct Dialing คือการโทรตรงและมีค่าบริการที่สูงกว่า
ข้อดีของ Single Gateway นั้นคืออะไร? ผมนึกไม่ออกเท่าไร จะบอกว่าเอกชนไม่ต้องลงทุนอีกต่อไป มันดียังไง? บริษํทเอกชนเขามีเงินอยู่มากมายพร้อมลงทุนเราจะลงทุนแทนเขาทำไม (ด้วยภาษี) เขาเองก็อยากจะลงทุนเพราะต้องการพัฒนาบริการของตัวเอง ไม่ใช่หวังพึ่งการบริหารของภาครัฐที่ประวัติเต็มไปด้วยความล้มเหลว ภาคประชาชนเองก็เสียหายหนักทั้งในด้านบริการที่ได้รับ และข้อมูลส่วนตัวที่ถูกตรวจสอบและควบคุม ภาครัฐเองก็ต้องลงทุนมหาศาลในการพัฒนาและบริหาร เป็นเงินที่ opportunity cost สูงมากเพราะเงินนับหมื่นล้านเอาไปทำอะไรได้ตั้งเยอะ สรุปแล้วเป็นนโยบายที่ lose-lose-lose เพียงเพื่อหวังสร้างความมั่นคงให้มากขึ้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จริงๆ ก็คือหน่วยงานความมั่นคงที่จะมีอำนาจมากขึ้น
แม้ในเอกสารจะเขียนบอกว่า Single Gateway มีไว้ตรวจสอบเฉพาะข้อมูลที่เข้ามา แต่มันมีความสามารถในการตรวจสอบได้ทั้งสองทาง และที่สำคัญมันยากที่จะเชื่อว่าภาครัฐถ้ามีอำนาจนี้อยู่ในมือจะไม่คิดใช้ เพราะถ้าแค่จะ censor เวบต่างประเทศทุกวันนี้ก็ทำได้อยู่แล้ว ประเทศสิงค์โปรก็ทำการ censor content ยากที่จะเชื่อว่ารัฐบาลจะลงทุนเป็นหมื่นๆ ล้านให้ขีดความสามารถในการควบคุมและตรวจสอบเพิ่มขึ้นแล้วไม่ใช่ครับ อย่าลืมว่า NSA ในอเมริกาก็ทำอะไรหลายอย่างที่ตัวเองไม่ได้มีหน้าที่ทำ และบอกว่าไม่ได้ทำ

หากจะวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียของ Single Gateway แล้ว เชื่อได้ว่าหากสอบถามไปยังบริษัทเอกชน ตั้งแต่ ผู้ให้บริการ Gateway เช่น ทรู, จัสมิน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในประเทศ เช่น ทรู, 3BB, เอไอเอส ผู้ให้บริการคอนเทนต์จากต่างประเทศ เช่น Google, Youtube, Facebook ผู้ให้บริการด้าน อี-คอมเมิร์ซ เช่น ตลาดดอทคอม, Alibaba, Lazada และอื่นๆ อีกจำนวนมาก หรือไปถามประชาชนส่วนมาก ต้องไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้อย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะขัดกับแนวทางการเปิดเสรีทางการสื่อสารแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเป็นไปได้ อย่าลืมว่ากฏหมายเศรฐกิจดิจิทัลก็โดนวิจารณ์หนักมากจนต้องถูกนำกลับไปแก้มาแล้ว และต่อให้ภาครัฐอยากทำให้เกิดจริง การทำ Single Gateway นั้นเป็นเรื่องที่ยากและราคาแพงมาก คงอีกนานกว่าจะทำได้สำเร็จ ยังพอมีทางแก้ไขอยู่บ้าง
ตอนนี้ถ้าดูจากสื่อต่างๆ ไม่มีใครเลยที่ออกมาสนับสนุนโครงการนี้ ไม่มีสื่อไหน ไม่มีนักวิชาการณ์ไหน ไม่มีผุ้อยู่ในวงการคนไหนเลยที่ไม่ได้ทำงานให้กับภาครัฐ แล้วเห้นด้วยกับโครงการนี้ ตอนนี้ change.org ก็มีการเก็บรับรายชื่อต่อต้าน Single Gateway แล้ว ข่าวนี้ดังไปถึงต่างประเทศ เวบสื่อดังๆ อย่าง CNET และ Venturebeat
Single Gateway เป็นหนึ่งในนโยบาย ICT ที่แย่ที่สุดที่รัฐบาลนี้เคยคิดขึ้นมา ความหวังที่เกิดจากการประกาศ Digital Economy นับวันเริ่มน้อยลงๆ ทุกคนอยากเห็น E-Government มาให้บริการภาครัฐ อยากเห็น Universal Broadband มาสร้างความเท่าเทียมในสังคม อยากเห็น E-Commerce เติบโตสร้างรายได้ให้กับประเทศ อยากเห็น Edutech มาพัฒนาการศึกษา แต่ถ้านี่คือตัวอย่างของโครงการ Digital Economy ของรัฐบาลชุดนี้ ขอไม่เอาดีกว่า
*ภาพปกจาก cattelecom.net
source :- http://www.telecomjournalthailand.com/

 
Top