ฝันร้ายของชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต
โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ได้พูดคุยกับชาวต่างชาติหลายรายที่ตัดสินใจนำเงินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ตหวังใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสุขสบายในเมืองไทย แต่สุดท้ายกลับถูกฉ้อโกงเอาทรัพย์สินไปจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว
หนึ่งในชาวต่างชาติที่เข้ามาลงหลักปักฐานในภูเก็ต คือเอียน แรนซ์ ชายชาวอังกฤษที่แต่งงานกับหญิงไทยที่ชื่อว่าสุดา เมื่อปี 2544 และมีบุตรด้วยกัน 3 คน เขาเผยว่าในช่วงนั้นอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ริเริ่มโครงการ Thailand Elite ที่ต้องการดึงดูดชาวต่างชาติฐานะดีเข้ามาลงหลักปักฐานในไทย โดยอ้างว่าจะให้สิทธิพิเศษในการครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งตามปกติไม่สามารถทำได้ตามกฎหมายไทย
เอียนบอกว่า เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เขาตัดสินใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ คือบ้าน 2 หลัง ร้านอาหาร 1 แห่ง และที่ดินอีก 2 แปลง แต่ท้ายที่สุดแล้วโครงการ Thailand Elite กลับไม่เคยเกิดขึ้นจริง เขาจึงโอนที่ดินเหล่านี้ให้เป็นชื่อของอดีตภรรยา และบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจที่เขาก่อตั้งขึ้น จากนั้นในปี 2551 อดีตภรรยาได้เริ่มยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินจากบริษัท แล้วถอดเขาออกจากตำแหน่งประธานบริษัท ด้วยการปลอมแปลงลายเซ็น และทำหนังสือมอบอำนาจปลอมเพื่อเปลี่ยนชื่อเจ้าของทรัพย์สินและที่ดินมูลค่ารวมกันหลายสิบล้านบาท
แรนซ์ ทราบเรื่องดังกล่าวในปี 2553 ซึ่งตอนนั้นอดีตภรรยาได้หลบหนีไปแล้วทิ้งลูก 3 คนไว้เบื้องหลัง จากนั้นได้ส่งคนไปขู่เอาชีวิตแรนซ์ และบอกให้เขาออกไปจากภูเก็ต โดยขู่ว่าจะลักพาตัวลูกทั้ง 3 คนหากไม่ยอมย้ายออกจากบ้านในทันที ด้วยเหตุนี้ แรนซ์จึงต้องหอบลูกหนีมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วแจ้งความดำเนินคดีกับอดีตภรรยาและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกลุ่มนายทุนที่อดีตภรรยานำที่ดินไปจำนอง ส่งผลให้อดีตภรรยาถูกตัดสินจำคุก 4 ปีในความผิดฐานฉ้อโกง แต่ผู้เกี่ยวข้องคนอื่นกลับไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด
กรณีเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นกับ คอลิน วอร์ด ชาวไอร์แลนด์ ที่เข้าไปลงทุนในภูเก็ตและถูกอดีตภรรยาชาวไทยฉ้อโกงทรัพย์สินมูลค่าราว 56 ล้านบาท ซึ่งเขาพบว่านายทุนรับจำนองที่ดินเป็นกลุ่มเดียวกับคดีของแรนซ์ และคนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับโทษใด ๆ เพราะเป็นเครือญาติของนายตำรวจใหญ่คนหนึ่ง
สุรินทร์ บำรุงผล แกนนำเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในจังหวัดภูเก็ต เผยว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมากที่มีคดีความฟ้องร้องทำนองเดียวกับแรนซ์ และหลายรายเป็นกรณีที่ทนายความที่พวกเขาว่าจ้างแอบทำงานให้ฝ่ายคู่กรณีเพราะต้องการเงินจากทั้งสองฝ่าย สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวต่างชาติส่วนใหญ่แพ้คดีความ คือ การทุจริต, ทนายความไร้ประสิทธิภาพ และการที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ทำหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม
ด้านแรนซ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายเตือนชาวต่างชาติที่กำลังคิดจะใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายและซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต ว่าไม่ควรมา โดยระบุว่า ระบบกฎหมายที่นี่ไม่ช่วยปกป้องชาวต่างชาติเมื่อเกิดปัญหาขึ้น และยังมีขบวนการที่คอยจ้องหาประโยชน์จากชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ทนายความบางส่วนก็ไม่มีจรรยาบรรณหรือความเป็นมืออาชีพ
ภาพประกอบ – ภาพ 1 หาดป่าตอง (แฟ้มภาพ), ภาพ 2 นายเอียน แรนซ์, ภาพ 3 เอกสารที่มีการปลอมลายเซ็นต์ของนายแรนซ์

 
Top