(ขอบคุณภาพจาก สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์)
อัยการจังหวัดยะลาสั่งไม่ฟ้องคดีกรมทหารราบที่ 41 ยะลา กล่าวหาผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมหมิ่นประมาท
พนักงานอัยการจังหวัดยะลามีคำสั่งไม่ฟ้องผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิ ซึ่งถูกกรมทหารพรานที่ 14 ยะลา ร้องทุกข์กล่าวโทษ จากการเปิดเผยข้อมูลกรณีผู้ได้รับบาดเจ็บขณะถูกควบคุมตัวในภาคใต้
คดีนี้กรมทหารพรานที่ 14 จังหวัดยะลา (ฉก. 14) แจ้งความร้องทุกข์น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมในข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้เสียชื่อเสียง ตั้งแต่ปลายปีพ.ศ. 2557 เนื่องจากทางมูลนิธิมีการเผยแพร่ข้อมูลรายงานการซ้อมทรมาน และกรณีที่เกิดขึ้นกับนายอาดิล สาแมซึ่งได้รับบาดเจ็บขณะถูกควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ล่าสุดพนักงานอัยการได้มีหนังสือคำสั่งลงวันที่ 17 มิถุนายน 2558 สั่งไม่ฟ้องน.ส.พรเพ็ญและมลนิธิผสานวัฒนธรรม เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อว่าผู้ต้องหามีเจตนาเพียงให้ผู้บังคับบัญชาของผู้กล่าวหาและองค์กรที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับนายอาดิล สาแม เป็นการติชมการทำงานขององค์กรสาธารณชนตามความเข้าใจทั่วๆไป ขาดเจตนาในการกระทำผิด และการแจ้งความร้องทุกข์ เป็นการแจ้งความในนามองค์กร ไม่ใช่แจ้งในฐานะบุคคลธรรมดาส่วนตัว แต่ไม่ได้รับมอบอำนาจจากกองทัพบก ผู้กล่าวหาจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย
น.ส. พรเพ็ญ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า การฟ้องคดีอาญาต่อนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนโดยหน่วยงานความมั่นคงส่งผลโดยตรงต่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ การแจ้งความร้องทุกข์ของทหาร ทำให้คนทำงานอาจเข้าใจว่า มีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ถูกฟ้องกลับเมื่อต้องการตรวจสอบรัฐ และการเขียนหนังสือร้องเรียนให้หน่วยงานผู้ถูกกล่าวหาว่าทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ควรเป็นเหตุที่จะถูกฟ้องหมิ่นประมาท และในกรณีนี้เมื่อมีการฟ้องร้องกัน ก็ไม่มีการตรวจสอบกรณีของนายอาดิลต่ออีกเลย
“ในเรื่องนี้เมื่อมีการฟ้องร้องกัน แต่เนื้อหาต้นเรื่องที่กล่าวอ้างว่ามีการทำร้ายร่างกายนายอาดิล ก็ได้มีการตรวจสอบเลย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ไม่ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวมาตรวจสอบว่า มีการทำร้ายร่างกายนายอาดิลจริงหรือไม่ ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนั้นก็ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบว่า 1.มีการกระทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ 2. ถ้ามีการกระทำเช่นนั้นจริง ใครเป็นผู้กระทำ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของ ฉก. 41 หรือไม่ หรือมีผู้อื่นกระทำเช่นนั้น” น.ส.พรเพ็ญกล่าว