0
นักข่าวต่างประเทศยังสับสนมาตรการเข้มงวดการให้วีซ่า ชี้อาจเป็นการส่งสัญญาณการจำกัดเสรีภาพสื่อที่ไทยไม่ชอบใจ ในขณะที่เสียโอกาสของการเป็นศูนย์กลางการทำข่าวในภูมิภาค

ประธานคณะกรรมการวิชาชีพของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย โจนาธาน เฮด กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลไทยออกมาตรการใหม่เกี่ยวกับการขอหนังสือเดินทางประเภท M หรือประเภทสื่อมวลชนโดยมีเงื่อนไขสำคัญหลายประการว่า ส่งผลกระทบต่อสื่อต่างประเทศในไทยเพราะเป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานของสื่อปัจจุบันที่มักเป็นสื่อที่ไม่มีสังกัดมากกว่าสื่อมีสังกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านข่าวกีฬา ท่องเที่ยวและวัฒนธรรม

เฮดระบุว่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนบอกว่าเป้าหมายของมาตรการนี้คือต้องการลดจำนวนนักข่าวต่างประเทศในไทยที่มีอยู่ 500 คนลง เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนกลับออกมาพูดชัดว่าต้องการจะจำกัดวงนักข่าวที่เขียนข่าวที่ไม่เป็นคุณกับรัฐบาลไทย

อย่างไรก็ตามเขาระบุว่าเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องพิสูจน์สังกัดก็ทำให้นักข่าวกลุ่มที่รายงานข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลยังไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบกลับเป็นกลุ่มนักข่าวอิสระที่มีเป็นจำนวนมาก เช่น นักเขียนให้นิตยสาร หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ ช่างภาพซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ล้วนเป็นช่างภาพอิสระ ผลของการเข้มงวดของทางการเชื่อว่าจะทำให้ลดจำนวนนักข่าวที่ทำงานในไทยลงได้อย่างมากราว 50 คน ซึ่งก็คงจะไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่อยากลดจำนวนนักข่าวลงอย่างที่เจ้าหน้าที่บางคนระบุ

“มาตรการที่ออกมาอาจจะทำให้ถูกมองได้ว่ารัฐบาลอาจจะต้องการจัดการกับสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่คนที่ได้รับผลกระทบกลับเป็นสื่อที่ไม่มีสังกัดและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง”

เฮดระบุว่าที่ผ่านมา ทางสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย ได้พยายามประสานและทักท้วงให้กระทรวงการต่างประเทศแก้ไข คือการที่กำหนดว่าสื่อต่างประเทศในไทยต้องทำข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับความจริง เพราะสื่อต่างประเทศย่อมทำงานในประเด็นประเทศเพื่อนบ้านด้วย และอีกประเด็นคือ นักข่าวที่ทำงานในประเด็นข่าวกีฬา ท่องเที่ยวและแฟชั่น ไม่ควรถูกตัดโอกาสในการขอวีซ่าประเภทนี้ อย่างไรก็ตามทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าต้องส่งให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

เฮดกล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีสถานะของการเป็นศูนย์กลางของการรายงานข่าวในภูมิภาคมาเนิ่นนานเพราะบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ความมีเสรีภาพเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สอดคล้องกับการพยายามเปิดพื้นที่ต้อนรับการลงทุนและอื่นๆ การเข้มงวดในเรื่องนี้นอกจากส่งสัญญาณในทางลบว่าอาจต้องการจำกัดเสรีภาพสื่อ อีกด้านก็กระทบความเป็นศูนย์กลางการทำข่าวของไทย

“นี่เป็นที่ที่ดีมากในการทำงาน เคยเป็นที่ที่ดีสุดสำหรับสื่อต่างประเทศ และไทยควรจะภูมิใจในเรื่องนี้ ” เขาบอกว่า นี่เป็นจุดแข็งของไทย แต่ผลกระทบจากการแตกแยกทางความคิดในเมืองไทย อาจจะทำให้คนไทยบางส่วนและรัฐบาลทหารไม่พอใจสื่อต่างประเทศ แต่นี่คือหน้าที่ของสื่อ สิ่งเหล่านี้ควรจะมีการแลกเปลี่ยนกันเพราะถึงที่สุดแล้ว การถูกละเลยจากสื่อต่างประเทศก็ไม่เป็นผลดีกับประเทศไทยเอง และส่วนหนึ่งของการเปิดสู่การสร้างความสัมพันธ์และการค้าในระดับนานาชาติ ก็คือการเปิดพื้นที่ให้สื่อต่างประเทศได้ทำงาน

“สื่อต่างประเทศไม่ได้มีธงอะไร รายงานตามเนื้อผ้า บางเรื่องที่เป็นเรื่องอ่อนไหวเราก็ยึดข้อเท็จจริง แต่เราต้องรายงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่สามารถใช้ลีลาที่เป็นที่เข้าใจกันได้อย่างที่สื่อไทยทำเพราะไม่เช่นนั้นคนอ่านของเราจะไม่เข้าใจ แต่สื่อต่างประเทศทำแบบนี้กับทุกที่ ไม่ใช่ว่าทำกับไทยที่เดียว รัฐบาลไทยไม่น่าจะต้องมาใส่ใจกับการจัดการสื่อต่างประเทศมากไป สิ่งสำคัญกว่าคือการถกเถียงกันภายในประเทศ”

ด้านนายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการโต๊ะข่าวต่างประเทศ เครือเดอะเนชั่น กล่าวว่า โดยเปรียบเทียบแล้ว ไทยเคยเป็นประเทศที่เสรีสำหรับสื่อต่างประเทศ แต่เขาคิดว่าประเทศไทยตอนนี้กำลังเข้าไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับรัฐบาลส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนภาคพื้นทวีป โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาวและเวียดนาม ซึ่งควบคุมการทำงานของสื่อต่างประเทศมาก ขณะที่เมียนมาเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงแล้ว และกัมพูชาอาจจะนับได้ว่าให้เสรีภาพสื่อต่างประเทศมากที่สุดเพราะไม่มีเงื่อนไขในการเข้าไปทำข่าวเลย

สุภลักษณ์ยืนยันว่า ผู้สื่อข่าวทำงานภายใต้กรอบของการนำเสนอข้อเท็จจริง “เจ้าหน้าที่มักจะไม่ชอบสิ่งที่นักข่าวนำเสนอ ถ้าเสนอข่าวไปแล้วข้อมูลมันถูกแต่เจ้าหน้าที่ไม่ชอบก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ แต่ถ้าผิดนักข่าวก็พร้อมแก้ไข แต่การไปพูดว่าเราตั้งใจจะทำแบบนั้นมันไม่ใช่ นักข่าวไม่ทำแบบนั้น อย่าไปทำให้เรื่องของการเสนอข่าวกลายเป็นเรื่องส่วนตัว

ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงหลังจากมีมาตรการในการขอวีซ่าแบบใหม่ออกมา ระบุว่ากระทรวงไม่ได้ปฏิเสธวีซ่าของผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่างภาพอิสระ แต่ได้พูดคุยและแนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องให้เปลี่ยนประเภทวีซ่าเป็นประเภทที่เหมาะสม เช่น รหัส “B” หรือประเภทการติดต่อธุรกิจหรือทำงาน และหากมีความจำเป็นต้องใช้บัตรสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ถ่ายภาพให้กับสำนักข่าว ก็สามารถแสดงความจำนงขอรับบัตรผู้สื่อข่าวได้ ซึ่งกระทรวงจะพิจารณาและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ช่างภาพที่สังกัดสำนักข่าวที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องในประเทศไทยหรือในต่างประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากแนวทางการพิจารณานี้ กระทรวงระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ยื่นคำร้องขอวีซ่า ที่พำนักอยู่ในประเทศไทยจำนวนกว่า 500 คน โดยจากการตรวจสอบพบว่า มีผู้ที่ไม่เข้าข่ายขอรับวีซ่าผู้สื่อข่าวตามแนวทางข้างต้นเพียงประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น



แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top