เชื้อราจากกระเพาะแพะ-แกะ อาจช่วยผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพราคาถูกลงได้
คณะนักวิจัยนานาชาติ นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาบาร์บารา ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เชื้อราจากกระเพาะอาหารของสัตว์ประเภทแพะและแกะ ซึ่งสามารถย่อยสิ่งที่สัตว์ทั่วไปไม่อาจกินได้มากมายหลายชนิด อาจช่วยในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีราคาถูกลง เพราะเชื้อราดังกล่าวผลิตเอ็นไซม์ที่มีความยืดหยุ่น สามารถย่อยสลายวัตถุจากพืชได้หลากหลาย
ทั้งนี้ การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพในปัจจุบันทำจากพืชที่เป็นอาหารเช่นข้าวโพด หรือทำจากมูลสัตว์ได้บ้าง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถนำของเสียจากสิ่งมีชีวิตส่วนมาก รวมทั้งเศษไม้และหญ้าซึ่งมีราคาถูกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในแวดวงอุตสาหกรรมยังต้องอาศัยการย่อยสลายวัสดุเหล่านี้ลงเป็นน้ำตาลก่อนจะนำไปกลั่นเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งก็ต้องมีการใช้ความร้อนหรือสารเคมี ซึ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว นักวิจัยได้หันไปใช้ความสามารถของแพะและแกะในการย่อยสลายแทบทุกอย่างที่มันกินเข้าไป โดยได้ทดลองเก็บมูลสดใหม่ของแพะ แกะ และม้า มาศึกษาเปรียบเทียบกัน และพบว่าเชื้อราในกระเพาะของแพะและแกะสามารถสร้างเอ็นไซม์ที่ย่อยสลายพืชได้มากมายหลายชนิด โดยเมื่อเทียบกับเอ็นไซม์ที่มนุษย์ผลิตขึ้นด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรม ซึ่งปัจจุบันใช้งานในอุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว พบว่าเชื้อราในกระเพาะของแพะและแกะผลิตเอ็นไซม์ได้มากกว่าทั้งมีคุณภาพเท่าเทียมกัน รวมทั้งมีความสามารถย่อยสลายวัสดุประเภทไม้ได้ดีกว่า
ผลการศึกษาดังกล่าวซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Science ยังระบุด้วยว่า เชื้อราเหล่านี้พบได้ในสัตว์หลายชนิดนอกเหนือจากแพะและแกะ นั่นคือพบในสัตว์จำพวกวัวควายไปจนถึงช้างอีกด้วย
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น