กาแฟบรรจุแคปซูลมีผลเสียร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่?
เมื่อไม่นานมานี้ทางการเมืองฮัมบูร์ก ของเยอรมนี สั่งห้ามหน่วยงานในสังกัดซื้อกาแฟบรรจุแคปซูลมาใช้ในที่ทำการของรัฐ ตามแผนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีเป้าหมายลดปริมาณขยะ คริส สโตเกล-วอล์เกอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่า ตลาดของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ผลิตพยายามคิดค้นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบรรดาคอกาแฟเริ่มหันไปใช้วิธีการชงกาแฟรูปแบบใหม่ นั่นคือเครื่องชงกาแฟที่ใช้กาแฟบดบรรจุแคปซูลสำหรับชงดื่มทีละแก้ว ซึ่งแคปซูลประเภทนี้มักทำจากพลาสติกหรืออะลูมิเนียมที่มีฝาปิดทำจากกระดาษฟอยล์
เครื่องชงกาแฟระบบแคปซูล ยี่ห้อเนสเพรสโซ่ ที่คิดค้นโดย เอริค ฟาฟร์ ถือเป็นเจ้าแรกที่ออกวางตลาดเมื่อ 30 ปีก่อน นับแต่นั้นก็มีผู้นำผลงานออกแบบแคปซูลกาแฟนี้ไปพัฒนาต่อยอดอีกมากมาย รอสส์ โคลเบิร์ต นักวิเคราะห์จากราโบแบงค์ บอกว่า ปัจจุบันกาแฟแบบแคปซูลครองส่วนแบ่งการตลาด 1 ใน 3 ของตลาดกาแฟในแถบยุโรปตะวันตกที่มีมูลค่า 18,000 ล้านยูโร (ราว 720,000 ล้านบาท) และแม้ตลาดกาแฟจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 1.6% แต่กาแฟแบบแคปซูลกลับมียอดขายแซงหน้า คือเติบโตปีละ 9% นับแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
โคลเบิร์ต ชี้ว่า สินค้าประเภทนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตุนกาแฟแบบต่าง ๆไว้สำหรับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องที่มีรสนิยมการดื่มกาแฟแตกต่างกันไป ทั้งยังช่วยให้คนขี้เบื่อได้ลิ้มลองกาแฟรสชาติใหม่ได้เรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม โคลเบิร์ต บอกว่า ความกังวลเกี่ยวกับความไม่ยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดกาแฟแบบแคปซูล ซึ่งแม้แต่ จอห์น ซิลแวน ผู้คิดค้นกาแฟ K-cup กาแฟแคปซูลยอดขายอันดับหนึ่งในสหรัฐฯก็เคยยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่า รู้สึกผิดที่คิดค้นสินค้าตัวนี้ขึ้นมา
ส่วนทางการเมืองฮัมบูร์กระบุว่า การออกกฎห้ามซื้อกาแฟแคปซูลมาใช้ตามหน่วยงานในสังกัด เป็นส่วนหนึ่งในแผนการจัดซื้อสีเขียวขององค์กร โดยชี้ว่าแคปซูลเหล่านี้เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ทั้งยังก่อให้เกิดขยะ และยังนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ยากเพราะมักทำจากวัสดุที่มีส่วนประกอบเป็นพลาสติกผสมอะลูมิเนียม และมักมีกากกาแฟติดอยู่ที่ก้นผลิตภัณฑ์
ด้านโฆษกเนสเพรสโซ่ ระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัทสามารถรีไซเคิลแคปซูลกาแฟได้กว่า 80% และจัดจุดรับรีไซเคิล 14,000 จุดใน 31 ประเทศ แต่ ปีเตอร์ บาร์คซัค เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายขยะของสำนักสิ่งแวดล้อมยุโรป บอกว่า ประเด็นสำคัญเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการรีไซเคิล ทว่าเกี่ยวกับการลดปริมาณขยะที่จะต้องทิ้งหรือนำไปรีไซเคิล และการรีไซเคิลควรเป็นสิ่งสุดท้ายในการจัดการขยะ
ด้วยเหตุนี้ทำให้บรรดาผู้ผลิตพยายามคิดหาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถแก้ปัญหานี้ โดยนักออกแบบบรรจุภัณฑ์บางคนเสนอให้ใช้น้ำตาลแบบที่ใช้เคลือบหมากฝรั่งมาทดแทนถ้วยพลาสติก บ้างก็พัฒนาบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ รวมทั้งแคปซูลกาแฟที่ผลิตจากเส้นใยพืชที่ย่อยสลายได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้มักไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่ โคลเบิร์ต บอกว่า ตราบใดที่ตลาดยังคงเติบโตไปในทิศทางนี้ ก็คาดว่าแรงกดดันให้มีทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าในตลาดกาแฟแบบแคปซูลอาจไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น