0
นักเรียนและอดีตนักเรียนทุนสะท้อนข้อจำกัดของไทยที่อาจผลักคนเก่งไหลออกนอกระบบ 

อดีตนักเรียนทุนเผยสัญญารับทุน “ไม่เป็นธรรม” แต่ต้องมีความรับผิดชอบ ระบุระบบอาวุโส เล่นพรรคเล่นพวกทำให้นักเรียนทุนหวั่นใจ เผยหลายคนร่ำเรียนมาสูง แต่ต้องทำงานด้านเอกสาร แทนที่จะใช้ความรู้ทางวิชาการ

จากกรณีของทันตแพทย์สาวรายหนึ่งที่ได้ทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แล้วไม่เดินทางกลับมาทำงานใช้ทุน พร้อมทั้งไม่ชำระเงินที่มีมูลค่าหนี้สูงถึงเกือบ 30 ล้านบาท ทำให้ผู้ค้ำประกัน 4 รายต้องร่วมกันชดใช้ กลายเป็นเรื่องสร้างความโกรธเคืองให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทยจำนวนไม่น้อย ขณะที่ก็มีบางส่วนที่มองว่าน่าจะมีจุดอ่อนบางประการที่ไม่จูงใจให้คนกลับมาใช้ทุน หรือเลือกชำระเงินแทนการทำงานในระบบราชการ

อดีตนักเรียนทุนที่เคยเดินทางไปเรียนที่อังกฤษและต้องชดใช้ทุนเป็นเวลา 10 ปี ยอมรับกับบีบีซีไทยว่าสัญญาที่ต้องกลับมาทำงานชดใช้สองเท่านั้นถือได้ว่าเป็นสัญญา ที่ไม่เป็นธรรม แต่เข้าใจได้ว่ามีผู้หลบหนีไม่ชำระทุนคืนสูง ดังนั้นราชการจึงต้องกำหนดเวลา ชดเชยและเงินจำนวนมาก โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า เมื่อรับทุนไปแล้วก็ควรมีความรับผิดชอบ

อดีตนักเรียนทุนปริญญาโทและเอก ซึ่งอยู่ระหว่างรอบรรจุ บอกอีกว่า เริ่มรู้สึกลำบากใจกับสิ่ง ที่ได้ยินมาว่าระบบราชการเป็นระบบที่ยึดหลักอาวุโส มีการเล่นพรรคเล่นพวก ขณะนี้จึงต้องทำใจ และพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

อดีตนักเรียนทุนไทยที่เคยเดินทางไปศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ และปัจจุบัน รับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เงื่อนไขในการ รับทุนรัฐบาลเป็นสิ่งที่ผู้รับทุนทุกคนทราบดีอยู่แล้วก่อนรับทุน ดังนั้นหากคิดว่าไม่สามารถ ยอมรับได้ ก็ไม่ควรเซ็นสัญญายอมรับตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ดี มองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือ ผู้รับทุนหลายคนเดินทางไปเรียนตั้งแต่ยังอายุน้อย และไม่เคยทำงานมาก่อน เมื่อมีความเคยชิน ในต่างประเทศ และกลับมาพบกับวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างออกไปจึงทำให้เกิดปัญหา ในการปรับตัว

“พอกลับมาแล้วก็เกิด ‘คัลเจอร์ ช็อค’กับระบบราชการที่มีปัญหาหลายอย่าง คนที่เรียนตั้งแต่เด็ก ต้องใช้ทุนนานมาก จึงกลายเป็นความทรมานในการทำงานไป ทางออกอย่างหนึ่งในการ แก้ปัญหานี้คือนักเรียนทุนที่ต้องการศึกษาในต่างประเทศเป็นเวลานาน ควรได้รับโอกาสกลับมา ทำงานหลังจบปริญญาตรีก่อน เพื่อให้เลือกได้ว่าอยากอยู่ในระบบราชการจริงหรือไม่ รัฐบาลนอกจากจะให้ทุนแล้ว ควรมีระบบที่เอื้อต่อนักเรียนทุนที่กลับมาจากต่างประเทศด้วย เพราะส่วนใหญ่กลับมาแล้วไฟแรง แต่จะมอดก็เพราะระบบ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็ยากที่จะรักษา คนเก่ง ๆ ให้อยู่ในระบบต่อไปได้ ”

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลซึ่งต้องใช้ทุนราว 12 ปี ยังเปิดเผยอีกว่า หลายคนที่เรียนมาสูง แต่กลับมาแล้วไม่ได้ทำงานที่ตรงตาม ความถนัด และมีไม่น้อยที่ต้องไปทำงานเอกสาร แทนที่จะทำงานวิชาการ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่จบการศึกษาปริญญาเอก และกลับมาเป็นอาจารย์ จะต้องทำงานประกันคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นการกรอกเอกสาร นอกจากนี้ระบบอาวุโส ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะในกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ

นักเรียนทุนปริญญาเอกอีกรายจากประเทศในยุโรป ซึ่งจะต้องกลับมาใช้ทุนด้วยระยะเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่เรียนบอกว่าเมื่อรับทุนแล้วก็พบข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ไม่มีการประสานงานระหว่างองค์กรให้ทุนกับองค์กรที่ต้องการใช้งานคนที่รับทุน มีกรณีที่นักเรียนทุนสอบเสร็จแล้วไปหาต้นสังกัดที่จะทำงาน ปรากฏว่าได้คำตอบจากต้นสังกัดว่ายังไม่เคยแจ้งกับทางหน่วยงานที่ให้ทุนว่าจะรับคนทำงาน ซึ่งปัญหานี้ดูจะเป็นปัญหาของนักเรียนทุนสายวิทยาศาสตร์มากกว่าสายสังคม เนื่องจากสายวิทยาศาสตร์นั้นต้องใช้อุปกรณ์ รวมไปถึงห้องปฏิบัติการ เขายกตัวอย่างกรณีของรุ่นพี่ของเขารายหนึ่งซึ่งเรียนด้านฟิสิกส์ปรมาณู แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีห้องปฏิบัติการด้านนี้ เมื่อกลับมาก็ต้องไปทำงานที่ไม่ใช่สายที่จบมาโดยตรง

เขาบอกด้วยว่าอีกส่วนที่เห็นคือ สัญญาที่ไม่เป็นธรรมทั้งระหว่างองค์กรที่ให้ทุน เพราะตามกฎหมายแพ่ง ถ้าเป็นหนี้ ก็ต้องใช้ดอกเบี้ยไม่เกินสิบห้าเปอร์เซ็นต์ แต่สัญญาทุนคือให้ชดใช้สามเท่าของเงินที่รับไป อีกส่วนคือกับความไม่เป็นธรรมระหว่างนักเรียนทุนด้วยกันเอง เนื่องจากนักเรียนทุนสายยุโรปบางประเทศนั้นมีค่าเล่าเรียนต่ำมาก เช่น นักเรียนทุนในฝรั่งเศสอาจจะจ่ายค่าเล่าเรียนเพียงสามหมื่นบาทต่อปี แต่ต้องกลับมาใช้ทุนโดยการทำงานในระยะเวลาที่เท่ากับประเทศที่มีค่าเล่าเรียนแพงๆ อย่างสหรัฐฯ ที่มีค่าเล่าเรียนปีละเกือบล้านบาท

เมื่อถามถึงข้อเสนอ นักเรียนทุนรายนี้เงียบไปนาน พร้อมบอกว่า “ปัญหามันเยอะมากครับ” ก่อนจะอธิบายว่า ปัญหาหลักเกิดจากการไม่ประสานงานระหว่างองค์กรผู้ให้ทุน กับหน่วยงานที่จะรับนักเรียนทุนเข้าทำงาน อย่างที่กล่าวไป และขาดการดูแลและส่งเสริมนักเรียนในด้านการศึกษาเมื่อได้เข้าศึกษาต่อ เช่น ในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก นักเรียนทุนต้องเรียนภาษาเพิ่มเติม ซึ่งบางกรณีก็ไม่มีทุนในการเรียนภาษาเพิ่มเติมให้เป็นต้น ซึ่งเขาเห็นว่าหน่วยงานให้ทุนของไทยควรจะเพิ่มความสนใจในการส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนทุนมากกว่านี้

สำหรับกรณีของทันตแพทย์หญิงรายดังกล่าวนั้น วันนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลแถลงต่อสื่อมวลชนว่าที่ผ่านมาได้ติดตามทวงถามไปหลายครั้ง ทั้งยังทำหนังสือไปยัง ม.ฮาร์วาร์ดอย่างเป็นทางการ ทางมหาวิทยาลัยขอให้แยกเรื่องของการทวงหนี้ทุนการศึกษาที่ค้างชำระออกจากการลาออกจากราชการ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่สามารถยับยั้งการลาออกในกรณีนี้ได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาดีตนักเรียนทุนคนนี้ยังคงติดค้างหนี้อยู่สามสิบล้านบาท และคดีความจะสิ้นสุดลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ทำให้ต้องมีการเร่งรัดคดี โดยที่ผู้ค้ำประกันได้ร่วมกันชำระหนี้หมดแล้ว หลังจากนี้จะพิจารณาดำเนินการฟ้องล้มละลาย ซึ่งเมื่อมีการฟ้องล้มละลายแล้วจะสามารถดำเนินการขอให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองติดตามตัวหากพบว่ามีการเดินทางเข้าประเทศ


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top