0

แถลงการณ์ของฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “กรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัย” วันที่ 9 ธันวาคม 2558 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผู้บริหารบางคนที่เอารสนิยมทางการเมืองส่วนตัวมาปะปนกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบทางจริยธรรมในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่มีต่อนักศึกษา สมาชิกประชาคม และต่อประชาชนผู้เสียภาษี
การกล่าวหากลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เคลื่อนไหวว่า “มุ่งทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นไปโดยมั่นคงราบรื่น” และ “อาจสมประโยชน์กลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศชาติ รวมถึงอาจส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมในวงกว้าง” เป็นการกล่าวหาลอย ๆ ว่า นักศึกษามีจุดประสงค์และเบื้องหลังทางการเมืองที่ไม่บริสุทธิ์ โดยปราศจากหลักฐานข้อเท็จจริงและเหตุผลรองรับ
ถ้าจะใช้วิธีการกล่าวหาลอย ๆ ข้างต้น เราก็อาจตั้งคำถามในลักษณะเดียวกันต่อการที่ผู้บริหารบางคนได้ออกไปเคลื่อนไหวนอกมหาวิทยาลัย คัดค้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในประเด็นต่าง ๆ ก่อนรัฐประหาร 2557 ว่า “มุ่งทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นไปโดยมั่นคงราบรื่น” และ “อาจสมประโยชน์กลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศชาติ รวมถึงอาจส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมในวงกว้าง” ได้หรือไม่?
ข้อความสุดท้ายที่ว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์เดิม ของคนธรรมศาสตร์ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วตลอดมาทุกยุคทุกสมัยและมีความปรารถนาที่จะเห็นสังคมที่เป็นธรรม ประชาชนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข” นั้นช่างลักลั่นกับกับความเป็นจริงในปัจจุบันโดยสิ้นเชิงเมื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางคนก็ไปมีตำแหน่งการเมืองนอกมหาวิทยาลัยหลังรัฐประหาร 2557
ในขณะที่นักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ กลับถูกติดตามข่มขู่ ถูกดำเนินคดี นักศึกษาที่มีกิจกรรมทางการเมืองตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการของรัฐ กลับถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ถูกคุกคามควบคุมตัว แล้วยังถูกกล่าวหาจากผู้บริหารอีกว่า “อาจสมประโยชน์กลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศชาติ รวมถึงอาจส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” อีกด้วย!


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top