สันติภาพภาคใต้: ท่าทีคนพุทธต่อ “มารา ปาตานี”
“สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมรับความคิดเห็นของประชาชนที่จะต้องกำหนดความเป็นไปของพื้นที่ของตน และสิ่งที่สำคัญที่สุดของความต้องการพื้นฐานของประชาชน คือ สิทธิ และการยอมรับในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติ” รักชาติ สุวรรณ์ เครือข่ายคนพุทธเพื่อสันติภาพ
บีบีซีไทย: เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มมารา ปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐบาลในสามจังหวัดภาคใต้ได้เปิดตัวพูดคุยแถลงข่าวกับสื่อ การเปิดตัวของพวกเขาได้ทำให้เกิดความสนใจและเกิดบทสนทนาเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดขึ้นมาในพื้นที่สาธารณะ เป็นที่ชัดเจนว่ากระบวนการสันติภาพที่ภาคใต้เริ่มดึงดูดผู้คนให้ศึกษาและแสดงการมีส่วนร่วม บีบีซีไทยพบข้อเขียนของคุณรักชาติ สุวรรณ์ เครือข่ายคนพุทธเพื่อสันติภาพ ซึ่งอยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ กล่าวถึงกลุ่มมารา ปาตานี เป็นท่าทีที่น่าสนใจและมีไม่บ่อยนักที่คนพุทธในพื้นที่จะแสดงท่าทีในเรื่องนี้ จึงได้ขออนุญาตเจ้าตัวนำเสนอข้อเขียนของเขาไว้ดังต่อไปนี้
MARA PATANI
เริ่มแรกได้ยินชื่อนี้ ก็ค่อนข้างแปลกใจไม่ใช่น้อยเหมือนกันที่อยู่ๆมีชื่อนี้ปรากฏขึ้นมาเพื่อเป็นกลุ่มหรือองค์กร เป็นตัวแทนที่จะมาพูดคุยกับรัฐบาลไทย หรือพูดให้ตรงคือกับตัวแทนคณะพูดคุยของไทย
“มารา ปาตานี” เป็นการรวมตัวของ 6 กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ประกอบด้วย กลุ่มบีอาร์เอ็น เฉพาะส่วนที่เห็นด้วยกับการเจรจา หรือที่ใช้ชื่อว่า "บีอาร์เอ็น แอคชั่น กรุ๊ป" กลุ่มบีไอพีพี กลุ่มจีเอ็มไอพี และพูโล 3 กลุ่มย่อย คือ พูโลกลุ่มอาวุโส พูโลเก่า และพูโลใหม่
จริงๆ ก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งองค์กรเพื่อการพูดคุยกัน ในอดีตก็เคยมีการตั้ง"เบอร์ซาตู" ขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว เพียงแต่ในครั้งนี้การก่อตั้งดูเหมือนจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ส่วนหนึ่งที่ผมมองเห็นคือ การคุยกับกลุ่มที่รวมตัวกันมาเช่นนี้ ดีกว่าที่คณะพูดคุยของไทยจะต้องไปไล่คุยกับทีละกลุ่ม ทีละองค์กร มาครั้งนี้พวกเขารวมกลุ่มกันได้ สามารถพูดคุยกันเสียทีเดียวเลยนับเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ในแต่ละกลุ่มที่มารวมกันเป็น “มารา ปาตานี” นั้น เป็นเพียงกลุ่มที่สนใจในการพูดคุยสันติภาพ หากตามประสาของคนทำงานภาคประชาสังคมก็คงจะใช้คำว่า “ปีก” แทนคำว่า “กลุ่มย่อย” เช่น กลุ่มบีอาร์เอ็น ก็จะมาเฉพาะ “ปีก” ที่เห็นด้วยกับการพูดคุย
แต่การมาในนาม “มารา ปาตานี” ในครั้งนี้ อาจจะสร้างความงงให้กับหลายๆ คน เพราะอยู่ๆก็เปิดตัวแล้วก็มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ซึ่งที่จริงทั้งมารา ปาตานีและตัวแทนรัฐบาลไทยต่างก็มี “ข้อเรียกร้อง” ซึ่งกันและกัน
[หมายเหตุ คำว่าข้อเรียกร้อง กับ คำเรียกร้องต่างกันในขณะที่สื่อบอกว่า มารา ปาตานี เรียกร้อง แต่กลุ่มบอกว่า พวกเขาแค่ “เสนอ”]
ในมุมมองของคนไทยพุทธ หลายๆ คนคงไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย ด้วยเหตุผลว่าทำไมจะต้องไปพูดคุยกับผู้ที่ทำผิดกฎหมาย ทำไมต้องไปพูดคุยกับผู้ที่ฆ่าคนตาย หรือแม้แต่ทำไมต้องไปพูดคุยถึงประเทศมาเลเซีย หลากหลายเหตุผล
แต่ลึกๆแล้ว คนในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของสงขลาย่อมต้องการความสงบด้วยวิธีการพูดคุย บ้างอาจจะไม่มั่นใจว่าคุยกันถูกตัวแล้วจริงหรือ หรือว่าจะเป็นแค่การสร้างภาพของรัฐบาล และอาจจะหมายรวมถึงเป็นห่วงว่าคุยกับตัวปลอมก็เป็นได้
ในความต้องการเห็นความสำเร็จของการพูดคุย ถึงแม้จะเป็นในยุครัฐบาลทหาร ที่ได้อำนาจมาด้วยการทำรัฐประหาร ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจของนักประชาธิปไตย เพราะอาจจะไม่เชื่อมั่นในขบวนการพูดคุยของรัฐบาลทหาร แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมรับความคิดเห็นของประชาชนที่จะต้องกำหนดความเป็นไปของพื้นที่ของตน และสิ่งที่สำคัญที่สุดของความต้องการพื้นฐานของประชาชน คือ สิทธิ และการยอมรับในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติ
คณะพูดคุยของรัฐบาลไทย หรือรัฐไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถ่ายทอดความรู้สึกของสันติภาพ ความรู้ในกระบวนการพูดคุย และความต้องการสันติภาพของคนในพื้นที่ลงสู่ผู้ปฏิบัติในระดับล่าง ในขณะเดียวกัน ผู้ปฏิบัติงานในระดับล่างเองก็ต้องเข้าใจ ใส่ใจต่อกระบวนการสันติภาพเป็นอย่างดีถึงจะถ่ายทอดต่อประชาชนได้
สิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง คือ ภาคประชาสังคมเองจะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ต่อมวลชนของตนด้วยท่าทีแบบไหนเช่นกัน