บีบีซีไทยสัมภาษณ์ นักเรียน ม. 5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เหตุชูป้ายหลังนายกฯ ให้ถามเรื่องการแก้ปัญหาทุจริต
วันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นวันที่ เพนกวิ้น-พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นนักเรียนวัย 17 สายศิลป์-จีน จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเลขาธิการกลุ่มศึกษาเพื่อความเป็นไทได้ประสบการณ์ใหม่ในชีวิต เมื่อเขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารรวบตัวขณะที่ลุกขึ้นชูป้ายขึ้นเพื่อสื่อสารกับนายกรัฐมนตรี หลังเสร็จสิ้นการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ผลงานความก้าวหน้าของรัฐบาลในการปฏิรูปการแก้ทุจริตคอร์รัปชัน" เหตุการณ์ไปจบลงที่สถานีตำรวจ และเขาได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ได้ตั้งข้อหาอะไร แต่ได้บันทึกประวัติ และเลขที่บัตรประชาชนเอาไว้
เพนกวิ้นบอกว่า วันนั้นเขาเตรียมใจไปว่าอาจจะมีปัญหานิดหน่อย เมื่อโดนรวบตัวและต้องถูกสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจกว่า 2 ชั่วโมงก็เลยไม่ตกใจอะไร แต่ความตั้งใจของเขาคืออยากสื่อสารกับนายกรัฐมนตรีว่า การแก้ปัญหาทุจริตนั้นเป็นเรื่องที่ต้องสร้างจากจิตสำนึกสาธารณะ ขณะที่ระบบการศึกษาของไทยเน้นการท่องจำเรื่องจริยธรรมและความดีผ่านวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งเขาและเพื่อนๆ จากกลุ่มศึกษาเพื่อความเป็นไทยอีกราวๆ 50 คนเห็นว่าไม่ใช่วิธีทำให้เด็ก “อิน”
“ผมคิดว่าเพื่อให้เด็ก ‘อิน’ กับสิ่งกับสิ่งที่เป็นความดี ทำได้จริง และปรับกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ควรจะเรียนประสบการณ์จากวิชาปรัชญา วิชาจริยศาสตร์มากกว่า” เพนกวิ้นอธิบายแนวคิดซึ่งเขาเขียนลงไปบนป้ายที่ชูในวันเกิดเหตุด้วยว่า “ สอนเด็กไทยไม่ให้โกง ใช้เหตุผลสร้างจริยธรรมดีกว่าท่องจำหน้าที่พลเมือง” ซึ่งป้ายนั้นโดนเก็บไประหว่างเกิดเหตุชุลมุนลากตัวเขาออกจากห้องประชุม
เขาบอกว่า แม้จะโดนรวบตัวแต่ก็ไม่ได้ตกใจเพราะแน่ใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด และเจตนาสุจริต “การศึกษานี่เป็นสิ่งสำคัญและปัญหาความทุจริตต่างหากที่ต้องแก้”
นักเรียน ม. 5 รายนี้บอกว่าเขาและเพื่อนๆ กลุ่มศึกษาเพื่อความเป็นไทนั้นรวมตัวกันได้ราวๆ 50 คนและพูดคุยผ่านโซเชียลมีเดียถึงประเด็นการศึกษาเป็นหลัก โดยเขาได้ตำแหน่งเลขาธิการกลุ่มมาด้วยการ “โหวตแบบลำลอง” คือการลงคะแนนโดยเพื่อนๆ ที่มาร่วมพูดคุยกัน ประเด็นล่าสุดที่พวกเขาเคลื่อนไหวก็คือ เรื่องการปรับเวลาเรียนให้โรงเรียนเลิกเรียนเวลา 14.00 น. ซึ่งพวกเขาเพิ่งไปยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันพฤหัสบดี ที่แล้ว
“ทางกลุ่มเห็นว่า การลดเวลาเป็นแนวโน้มที่ดีต่อการปฏิรูปการศึกษา แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นต้องปรับหลักสูตรที่เหมาะสม และต้องฟังครูและนักเรียนด้วย การปรับกิจกรรมให้นักเรียนควรให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมจริงๆ นะ ฟังเสียงเด็กๆ ไม่บังคับ”
ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเรื่องการปรับข้อสอบปรนัยให้น้อยลงเพิ่มอัตนัยให้มากขึ้น เพนกวิ้นบอกว่ากลุ่มฯ ยังไม่ได้คุยกัน แต่โดยส่วนตัวเขาเห็นว่า ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีปัญหาเชิงเทคนิคอยู่ด้วย
“จะถามคำถามแบบไหนให้เด็กทั้งประเทศสอบ ในกรณีที่เป็นข้อสอบปลายเปิด มีเรื่องความใจกว้างของผู้ตรวจด้วย” เพนกวิ้น กล่าว
หลังเกิดเหตุการณ์ถูกรวบตัวไปโรงพัก เขายังยืนยันว่าจะทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ เรื่องการศึกษาต่อไป และทางโรงเรียนยังไม่ได้เรียกเขาไปพบหรือมีท่าทีใดๆ ต่อการแสดงออกทางความคิดของเขา ขณะที่พ่อและแม่เป็นห่วงอยู่บ้างแต่เห็นว่าเขาอายุไม่น้อยแล้วและถือว่ามีวิจารณญาณระดับหนึ่ง
“ตอนแรกเขาก็ตกใจที่โดนตำรวจรวบ แต่ที่บ้านเราเน้นเรื่องการเปิดกว้างทางความคิด” นักเรียนชายวัย 17 ผู้ใฝ่ฝันอยากเรียนด้านประวัติศาสตร์กล่าวทิ้งท้าย


 
Top