เหตุใดภาพของหนูน้อยชาวซีเรียจึงสะเทือนใจผู้คนจำนวนมาก?
ไนลูเฟอร์ เดมีร์ ช่างภาพหนังสือพิมพ์ชาวตุรกีกำลังถ่ายภาพของกลุ่มผู้อพยพชาวปากีสถานอยู่ที่ชายฝั่งตุรกีตอนที่เธอกวาดสายตาไปพบกับร่างไร้วิญญาณของ ด.ช. อาลัน คูร์ดี ที่ถูกกระแสน้ำพัดมาเกยชายหาด ปฏิกิริยาของเดมีร์ในตอนนั้นก็เหมือนช่างภาพทั่วไปคือกดชัตเตอร์เก็บภาพของหนูน้อยชาวซีเรียวัย 3 ขวบที่นอนคว่ำหน้าเสียชีวิตอย่างเดียวดายบนชายหาด ซึ่งเป็นภาพที่บีบีซีเลือกที่จะไม่นำมาเผยแพร่ เดมีร์ บอกว่า นี่เป็นภาพที่สะเทือนใจที่สุดเท่าที่เคยถ่ายมา และเธอก็บอกกับสำนักข่าวดีเอชเอ ต้นสังกัดว่า สิ่งเดียวที่เธอสามารถทำได้ คือทำให้สังคมได้ยินเสียงร้องของหนูน้อยผู้เคราะห์ร้ายคนนี้ และหวังว่าภาพนี้จะช่วยเปลี่ยนสถานการณ์ของวิกฤตผู้อพยพในปัจจุบัน
ภาพถ่ายดังกล่าวไม่เพียงจะกระทบใจผู้ที่ได้เห็น แต่ยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อปัญหาผู้อพยพอย่างไม่ต้องสงสัย วิล วินเทอร์ครอสส์ ช่างภาพสงครามชื่อดังของหนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟบอกว่า เขาถ่ายภาพทำนองนี้อยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะในซีเรีย แต่มีน้อยภาพนักที่จะถูกตีพิมพ์ เพราะเป็นภาพที่น่าสยดสยองและสลดใจเกินกว่าจะถูกนำมาเปิดเผย
วินเทอร์ครอสส์ชี้ว่าการที่ภาพของเดมีร์ ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางนั้น สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะภาพนี้ไม่ได้ถ่ายได้จากเขตสงครามในซีเรีย ทว่าจากชายหาดแห่งหนึ่งในตุรกี นอกจากนี้องค์ประกอบภาพก็มีส่วนสำคัญ คือ ไม่ใช่ภาพถ่ายนองเลือดเหมือนภาพสงครามทั่วไป แต่ก็สร้างความตกตะลึงและสลดใจให้แก่ผู้พบเห็น เพราะเป็นภาพที่สื่อเรื่องราวของเหตุการณ์จริงออกมาเพียงครึ่งเดียวและกระตุ้นให้ผู้พบเห็นได้จินตนาการถึงเรื่องราวที่เหลือเองว่า อะไรทำให้หนูน้อยต้องมาพบจุดจบเช่นนี้ และเหตุใดเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งความคิดเหล่านี้เป็นสัญชาตญาณของคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อแม่คน ดังเช่นที่ นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ผู้นำอังกฤษ แสดงปฏิกิริยาผ่านทางทวิตเตอร์ “ในฐานะคนเป็นพ่อ” ว่ารู้สึกสะเทือนใจกับภาพของหนูน้อยอาลัน คูร์ดี เป็นอย่างมาก
เช่นเดียวกับนิโคล อิทาโน ผู้ดูแลงานฝ่ายสร้างสรรค์ขององค์กร Save the Children ที่บอกว่าเรื่องราวของหนูน้อยชาวซีเรียคนนี้ทำให้เธอคิดว่า เรื่องแบบนี้อาจเกิดขึ้นกับลูกสาวตัวน้อยของเธอหรือใครก็ได้ และเธอคิดว่าสิ่งที่กระทบใจผู้ได้พบเห็น คือภาพที่เด็กชายดูราวกับกำลังนอนหลับอยู่ ยกเว้นบริบทโดยรอบที่ทำให้รับรู้ได้ว่าเขาเสียชีวิตแล้ว อิทาโน บอกว่า แม้ Save the Children จะไม่ได้ลงรูปภาพดังกล่าวแต่ก็ลงลิงค์ให้ผู้สนใจเข้าไปดูในบทความของหนังสือพิมพ์ ดิ อินดีเพนเด็นท์ ซึ่งเลือกที่จะตีพิมพ์ภาพร่างไร้วิญญาณของหนูน้อยนอนคว่ำหน้าบนชายหาดลงหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ในขณะที่สื่ออื่นไม่ทำเช่นนั้น
วิล กอร์ ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารของดิ อินดีเพนเด็นท์ ยอมรับว่าการตัดสินใจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ภาพนี้เกิดขึ้นในช่วงที่การเจรจาหารือเรื่องปัญหาผู้อพยพไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ดังนั้นจึงตัดสินใจตีพิมพ์ภาพดังกล่าว เพื่อบอกเล่าถึงสถานการณ์จริงของปัญหา และเรื่องน่าตกใจที่เกิดขึ้นกับหนูน้อยผู้นี้ อย่างไรก็ตาม ทั้งกอร์และวินเทอร์ครอสส์ เห็นพ้องกันว่าไม่ควรนำเสนอภาพผู้เสียชีวิตบนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างพร่ำเพรื่อ เพราะจะทำให้ภาพเหล่านี้เสื่อมอำนาจในตัวของมันไป
ภาพประกอบ แฟ้มภาพ - ภาพแรก เจ้าหน้าที่ตุรกีอุ้มศพของหนูน้อยอาลัน ที่หาดในตุรกี; ภาพ 2 นายสุดาร์ซาน พัทนเอก ศิลปินชาวอินเดียก่อทรายจำลองภาพหนูน้อยอาลัน ขึ้นที่หาดปูริ ในรัฐโอริสสาของอินเดีย; ภาพ 3 หนูน้อยอาลัน