บรรเทาอาการเมารถ เมาเรือและเมาเครื่องบินด้วยการใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมอง
ภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว เกิดขึ้นเมื่อโดยสารในยานพาหนะต่าง ๆ หรือ เรียกง่าย ๆ ว่าการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ชัดถึงสาเหตุของภาวะดังกล่าวอย่างแน่ชัด แต่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่ามีสาเหตุมาจากการสื่อสารที่ไม่สัมพันธ์กันของระบบประสาทการรับรู้ทางตาและประสาทการรับรู้ทางการได้ยิน จึงทำให้สมองเกิดความงุนงง และก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะและปวดศีรษะได้
คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนได้ทดลองภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว กับกลุ่มตัวอย่าง 20 คน และเผยว่าการใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองได้ผลคล้ายคลึงกับการรักษาด้วยยาแก้เมา แต่การรักษาด้วยกระแสไฟฟ้านี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการง่วงซึมเหมือนผลข้างเคียงของยาแก้เมา
ดร. คาเดียร์ อาลชาด จากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนชี้ว่าผู้ที่ระบบหูชั้นในเสียไปจะไม่มีภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว ทั้งนี้ในการทดลองครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ใช้กระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนกระตุ้นกับอาสาสมัคร 20 คน ขณะนั่งอยู่บนเก้าอี้เคลื่อนไหวเลียนแบบการนั่งเรือ โดยอาสาสมัครครึ่งหนึ่งใส่อุปกรณ์ปล่อยกระแสไฟฟ้าจริง แต่อีกครึ่งหนึ่งใส่อุปกรณ์ชนิดเดียวกันแต่ไม่มีกระแสไฟฟ้าออกมา ทำให้คณะวิจัยพบว่า อาสาสมัครที่ถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าเกิดอาการเมาช้ากว่า และหายเป็นปกติเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับกระแสไฟฟ้ากระตุ้น
ดร. อาลชาดบอกกับทีมงานเว็บไซต์บีบีซีว่า ยังไม่พบผลข้างเคียงจากอุปกรณ์ดังกล่าว และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจจะสามารถผลิตเครื่องมือเช่นนี้ออกขายสู่ท้องตลาดได้ จะทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น เพราะไม่ต้องพึ่งยาที่ทำให้ง่วงซึมอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ศ. คริส แชมเบอร์ส หัวหน้าศูนย์การกระตุ้นสมองของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ให้ความเห็นว่าผลการวิจัยนี้ยังเป็นอยู่ในขั้นต้น จึงควรมีงานวิจัยอื่นที่ใหญ่กว่ามารองรับก่อนจะสรุปผลการวิจัย
ภาพประกอบ - แฟ้มภาพ

 
Top