"ม่านน้ำแข็ง" ที่ขวางกั้นชาวเอสกิโมในสหรัฐฯ จากญาติพี่น้องในฝั่งรัสเซีย
ชาวเอสกิโมที่อาศัยบนเกาะลิตเติ้ล ดีโอเมดี้ บริเวณช่องแคบแบริง ในฝั่งรัฐอะแลสกา ของสหรัฐฯ เผยว่า ความหวังที่พวกเขาจะมีโอกาสได้พบหน้าญาติพี่น้องบนเกาะบิ๊ก ดีโอเมดี้ ซึ่งอยู่ในฝั่งของรัสเซียนั้นเริ่มเลือนรางลง หลังจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียกลับมาตึงเครียดจากวิกฤติการณ์ในยูเครน
แต่เดิมนั้นชาวเอสกิโมที่อาศัยบนเกาะดีโอเมดี้ทั้งสอง ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 4 กม.ถือเป็นคนกลุ่มเดียวกันจนกระทั่งสหรัฐฯซื้อรัฐอะแลสกาจากรัสเซียเมื่อปี 2410 จึงทำให้เกาะทั้งสองถูกแยกออกจากกัน โดยเกาะบิ๊ก ดีโอเมดี้ เป็นของรัสเซีย ขณะที่เกาะลิตเติ้ล ดีโอเมดี้ เป็นของสหรัฐฯ แต่ชาวเอสกิโมทั้งสองฝ่ายยังคงไปมาหาสู่กันได้ตามปกติจนถึงปี 2491 ซึ่งพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศได้ถูกปิดลง โดยทหารของอดีตสหภาพโซเวียตได้ย้ายไปอยู่บนเกาะบิ๊ก ดีโอเมดี้ แล้วผลักดันชาวบ้านให้ย้ายไปตั้งรกรากใหม่บนแผ่นดินใหญ่ในฝั่งไซบีเรีย
ด้วยเหตุนี้ทำให้ครอบครัวชาวเอสกิโมทั้ง 2 ฝั่งต้องถูกแยกออกจากกัน โดยคนในฝั่งสหรัฐฯยังคงเห็นว่าตนเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับชาวเอสกิโมในฝั่งรัสเซีย นางฟรานเซส โอเซนนา ผู้นำชาวเอสกิโมบนเกาะลิตเติ้ล ดีโอเมดี้ บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงจะทำให้พวกเขาต้องพลัดพรากจากญาติพี่น้อง แต่ยังทำให้พวกเขาเสี่ยงสูญเสียภาษาของตนเองไปเพราะคนรุ่นใหม่หันไปพูดแต่ภาษาอังกฤษหรือรัสเซีย และหากมีการจัดงานพบญาติจากรัสเซียขึ้นมาจริงๆก็จะเป็นการนำความสงบสุขไปสู่หัวใจของคนบนเกาะนี้ แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันเธอไม่คิดว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ
ชาวเอสกิโมบนเกาะลิตเติ้ล ดีโอเมดี้ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 80 คน ล้วนมีญาติพี่น้องในรัสเซีย โดยหลังจากอดีตสหภาพโซเวียตล่มสลายลง พวกเขาต่างเกิดความหวังที่จะได้พบญาติของตนอีกครั้ง นอกจากนี้รัฐบาลรัสเซียและสหรัฐฯยังเคยมีแผนจะปรับปรุงการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดช่องแคบแบริง แต่สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างสองประเทศทำให้โครงการเหล่านี้ต้องถูกพับลง
นายโรเบิร์ต ซูลุค เป็นผู้นำชาวเอสกิโมบนเกาะลิตเติ้ล ดีโอเมดี้ อีกคนที่เคยร่วมเดินทางไปตามหาญาติในเขตปกครองตนเองซูคอตคา ทางชายฝั่งตะวันออกของไซบีเรีย ซึ่งการเดินทางครั้งนั้นทำให้เขาได้พบกับญาติหลายคน แม้ในทางเทคนิคชาวบ้านจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปมาหาสู่กันโดยไม่ต้องใช้วีซ่าแต่ก็จำเป็นต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษเมื่อเดินทางเข้าเขตปกครองตนเองซูคอตคา เพราะพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเขตที่ถูกจำกัดด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง
นายซูลุค กล่าวทิ้งท้ายว่า พวกเขาอยู่ในดินแดนแห่งนี้มานานหลายพันปี ก่อนหน้าคนอังกฤษ, อเมริกัน และรัสเซีย และก่อนที่จะมีรัฐบาลหรือกฎระเบียบที่แยกครอบครัวของพวกเขาออกจากกัน พรมแดนที่ขวางกั้นทั้งสองประเทศเปรียบเสมือนสิ่งที่ทำลายหัวใจของพวกเขา
ทั้งนี้ โฆษกของนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต ถือเป็นบุคคลแรกที่เรียกเขตแนวพรมแดนอะแลสกา-ไซบีเรีย ว่า “ม่านน้ำแข็ง” (Ice Curtain)
ภาพประกอบ: โรเบิร์ต ซูลุค ผู้นำชาวเอสกิโมบนเกาะลิตเติ้ล ดีโอเมดี้ (บน)






 
Top