นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ "ปฏิทินเคมี" ของร่างกาย
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ค้นพบ “ปฏิทินเคมี” ที่ช่วยให้ร่างกายของคนเรารับรู้การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลต่างๆในรอบปี และอาจกระตุ้นให้มีปฏิกิริยาตอบสนอง เช่นการสร้างภูมิคุ้มกันต่างกันไปในแต่ละช่วง
โดยทั่วไปแล้ว นาฬิการอบปีของร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของสัตว์เมื่อถึงฤดูกาลต่างๆ เช่นฤดูกาลอพยพ จับคู่ผสมพันธุ์ และจำศีลในฤดูหนาว ซึ่งนาฬิการอบปีนี้ เป็นนาฬิกาชีวภาพที่ถูกควบคุมด้วยแสงสว่าง เช่นเดียวกับนาฬิการ่างกายของหนึ่งรอบวันที่ควบคุมให้เราตื่นหรือหลับตามเวลา ดังนั้นร่างกายจึงผลิตฮอร์โมนแห่งการนอนหลับที่ชื่อ เมลาโทนิน มากขึ้นในฤดูหนาว ซึ่งช่วงเวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน และในกรณีของมนุษย์นั้น อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลได้ เช่นมีการสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้นเมื่ออากาศเย็นลง
สำหรับงานวิจัยนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology โดยทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์สมองของแกะในช่วงเวลาต่างๆกันของปี และพบกลุ่มของ “เซลล์ปฏิทิน” ราว 17,000 เซลล์ในต่อมใต้สมองบริเวณฐานสมอง ซึ่งทำหน้าที่ปล่อยฮอร์โมนที่ควบคุมกระบวนการทำงานต่างๆของร่างกาย โดยเซลล์เหล่านี้มีการทำงาน 2 ระบบ คือในโหมดของฤดูร้อน หรือฤดูหนาว
นอกจากนี้ยังพบว่า สัดส่วนของเซลล์ปฏิทินในแต่ละโหมดเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งปี เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาหรือฤดูกาลที่เปลี่ยนผ่านไปด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบชัดเจนว่า ร่างกายสามารถรับรู้ถึงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูใบไม้ร่วงได้อย่างไร เนื่องจากพบว่าเซลล์ปฏิทินบางส่วนอยู่ในโหมดของฤดูหนาวและบางส่วนอยู่ในโหมดของฤดูร้อนในเวลาเดียวกัน
 
Top