ใครเป็นเจ้าของพื้นที่ในอวกาศ
เมื่อพูดถึงอวกาศ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยนึกถึงประเด็นที่ว่าใครเป็นเจ้าของ แต่ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ยังคงแข่งกันพัฒนาและสำรวจอวกาศ ทั้งยังมีบริษัทเอกชนเข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวในอวกาศ ยัสมิน อาลีผู้สื่อข่าวสายวิทยาศาสตร์ของบีบีซีจึงไปค้นคว้าหาคำตอบว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ในอวกาศ
นีล อาร์มสตรอง ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่นำธงชาติสหรัฐฯ ขึ้นไปปักบนดวงจันทร์เมื่อปี 2512 การปักธงอาจหมายถึงการอ้างกรรมสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว แต่นั่นเป็นเพียงเรื่องของการอ้างในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะไม่เข้าข่ายตามสนธิสัญญาอวกาศของสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 1967 ที่มี 129 ประเทศลงนามให้สัตยาบัน ซึ่งรวมทั้งจีน รัสเซีย อังกฤษและสหรัฐฯ
สนธิสัญญาฉบับนี้กำหนดหลักการสำคัญ ๆ เกี่ยวกับอวกาศไว้ เช่น ให้แนวคิดว่าอวกาศเป็นพื้นที่ของมวลมนุษยชาติ พื้นที่อวกาศที่อยู่นอกโลกออกไปเป็นดินแดนเสรีที่ทุกประเทศสามารถสำรวจและใช้ได้ แต่จะต้องไม่มีชาติใดอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ของดวงจันทร์และวัตถุในอวกาศ นอกจากนั้นจะต้องใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อเป้าหมายเชิงสันติเท่านั้น และจะต้องไม่ส่งอาวุธขึ้นสู่วงโคจรหรือสู่อวกาศ
ดร. จิล สจ๊วต แห่งลอนดอนสคูลออฟอิโคโนมิกส์ บอกว่าสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นเสมือนธรรมนูญที่กำกับดูแลอวกาศ และเท่าที่ผ่านมาสนธิสัญญากำกับดูแลชาติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี แต่สนธิสัญญามีช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าอวกาศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะทำงานของสหประชาชาติกำลังหารือกับภาคีสนธิสัญญาในประเด็นนี้อยู่ ดร. สจ๊วต เชื่อว่าการหารือน่าจะได้ข้อสรุปกำหนดแบ่งเขตแดนทางกายภาพของอวกาศที่เส้นคาร์แมน ซึ่งเป็นเส้นที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป 100 กิโลเมตร แต่เป็นไปได้ว่า อาจมีการกำหนดเรื่องการใช้งานและการทำงานของวัตถุที่อยู่ในอวกาศด้วย
ผู้สื่อข่าวบอกว่าการแบ่งเส้นเขตแดนทางกายภาพส่งผลให้บริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวอวกาศในเชิงพาณิชย์ เช่น เวอร์จิน กาแลคติก มีงานด้านเอกสารที่จะต้องทำเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะบริษัทจะต้องทำตามกฎหมายระหว่างประเทศทั้งเรื่องการบินและกฎหมายอวกาศด้วย แม้ว่ายานของทางบริษัทบินเข้าสู่อวกาศเพียงแค่ 5 หรือ 6 นาทีเท่านั้นก็ตาม
นักวิเคราะห์เห็นว่าสนธิสัญญาอวกาศนี้เป็นกลไกพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม สำหรับการตรากฎหมายอวกาศระหว่างประเทศ แต่สนธิสัญญาไม่ได้ระบุถึงการบินสู่อวกาศในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเรื่องการแสวงหาและใช้ทรัพยากรในอวกาศ ทั้งนี้เป็นเพราะในช่วงที่มีการร่างสนธิสัญญาและนำสนธิสัญญามาใช้ ฝ่ายต่าง ๆ ยังมองทิศทางในอนาคตไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ศ. เอียน ครอวฟอร์ด แห่งเบอร์เบค คอลเลจ สังกัดมหาวิทยาลัยลอนดอน ชี้ว่าจำเป็นต้องกลับไปทบทวนและแก้ไขสนธิสัญญาอวกาศให้ทันสมัย เพราะว่ากฎหมายระหว่างประเทศเองก็ยังไม่ชัดเจน ในกรณีที่มีบริษัทเอกชนต้องการทำเหมืองในอวกาศ เขาบอกว่าตอนนี้มีการถกเถียงกันว่า ในอนาคตหากมีการพัฒนาและมีทรัพย์สินเกิดขึ้นในอวกาศ ทางเลือกที่ให้ประสิทธิผลมากกว่าคือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในอวกาศ แทนที่จะส่งทรัพยากรขึ้นไปจากโลก เขายังชี้ด้วยว่าอีกเหตุผลด้านวิทยาศาสตร์ ที่จะต้องมีการร่างกฎหมายด้านอวกาศให้ชัดเจน เพราะว่าพื้นที่บางแห่งบนดวงจันทร์เป็นพื้นที่สำหรับงานทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นการเฉพาะ และควรจะต้องอนุรักษ์ให้เป็นไปแบบนั้น และปกป้องจากการถูกนำไปใช้ในกิจกรรมเชิงพาณิชย์
ผู้สื่อข่าวชี้ว่าในขณะที่ประชากรโลกทวีเพิ่มขึ้น และโลกต้องการวัตถุดิบมากขึ้น ทำให้มีการถกเถียงกันว่า แทนที่จะเดินหน้าใช้ทรัยพากรบนโลกต่อไป เป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่าทั้งในแง่ศีลธรรมและสิ่งแวดล้อมที่จะไปทำเหมืองในอวกาศ เนื่องจากอวกาศที่ไม่ได้เป็นถิ่นที่อยู่ของพืชหรือสัตว์และไม่ถือว่าเป็นการรบกวนความหลากหลายทางชีวภาพ
อย่างไรก็ตาม หากมีบริษัทเอกชนไปทำเหมืองในอวกาศจริง จะก่อให้เกิดประเด็นตามมาอีกมาก เช่น การทำงานของพวกเขาจะขัดกับสนธิสัญญาอวกาศหรือไม่ บริษัทเหล่านั้นจะเอาอะไรมาอ้างว่า ทำไปเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติทุกประเทศในโลก
ดร. คาสซานดรา สเตียร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของสถาบันแมคกิลล์เพื่อกฎหมายอากาศและอวกาศ แสดงความเป็นห่วงว่าในอนาคตอวกาศจะกลายเป็นสนามรบได้ เธอชี้ว่าชีวิตของเราทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับอวกาศ ทุกครั้งที่เราใช้โทรศัพท์ หรือโอนเงิน หรือใช้แผนที่ของกูเกิล เราต้องพึ่งสัญญาณจากดาวเทียม หากในอนาคตเกิดข้อพิพาทขึ้นมา การจะโจมตีดาวเทียมเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย นอกจากนั้นเทคโนโลยีดาวเทียมยังมีเป้าหมายการใช้งานทั้งทางพลเรือนและทหาร ตรงนี้เป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนทีเดียว และจะเกิดอะไรขึ้นหากเราพบสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่มีกฎหมายของตนเอง เราจะยึดกฎหมายฉบับไหน ดร. สเตียร์สรุปในตอนท้ายว่าประเด็นดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดคำถามมากกว่าคำตอบ และเรามาถึงจุดที่จำเป็นจะต้องทบทวนกฎกติกาเรื่องอวกาศกันแล้ว
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) - ภาพแรก ธงชาติสหรัฐฯ บนดวงจันทร์, ภาพ 2 นีล อาร์มสตรอง, ภาพ 3 ดวงจันทร์