จารึกบนกระดาษชำระ
อาจจะกล่าวได้ว่า แทบไม่มีสื่อมวลชน (กระแสหลัก) คนใดไม่ได้ใช้สื่อทางสังคมออนไลน์หรือที่รู้จักกันดีในนาม Social media จำพวก line, facebook twitter ฯลฯ สำนักข่าวส่วนใหญ่มักจะสนับสนุนให้พนักงานหรือผู้สื่อข่าวของตนใช้สื่อประเภทนี้ประกอบการทำงานหรือช่วยเสริมการทำงาน ในหลายกรณีสื่อกระแสหลักหาข่าวและข้อมูลจากโชเชียลมีเดียเหล่านี้ด้วยซ้ำไปจนกระทั่งเกิดข้อกล่าวหาสำคัญในวงการนี้ในปัจจุบันว่านักข่าวกระแสหลักทำงานง่ายหรือจนกระทั่งมักง่ายเกินไปที่พึ่งพิงสื่อประเภทนี้การใช้สื่อทางสังคมเหล่านี้เกิดปัญหาในแง่หลักการของการปฏิบัติหน้าสื่อมวลชนหลายประการ เช่นปัญหาของความถูกต้องแม่นยำของสื่อทางสังคม ความคลุมเครือของแหล่งที่มา รวมตลอดถึงความน่าเชื่อถือของสื่อเหล่านั้น ปัญหาเหล่านี้ควรจะได้รับการพิจารณาจากองค์กรและผู้เกี่ยวข้องในการวงการนี้อย่างจริงจัง
แต่ในที่นี้ผู้เขียนอยากจะพิจารณาปัญหาร่วมสมัยเสียก่อนว่าด้วย เสรีภาพและการคุ้มครองเสรีภาพในการใช้สื่อประเภทนี้ของสื่อมวลกระแสหลัก คำถามง่ายๆคือ นักข่าวควรได้รับการคุ้มครองเสรีภาพในการใช้สื่อทางสังคมเสมอเหมือนสื่อกระแสหลักในต้นสังกัดของพวกเขาหรือไม่
โดยหลักแล้วความรับผิดชอบขององค์กรสื่อต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนในสังกัดจะพึงมีก็แต่ในขอบเขตของการทำงานภายใต้ร่มธงของสื่อประเภทนั้นๆเท่านั้น นักข่าวหนังสือพิมพ์หนึ่งไปอภิปรายแสดงความเห็นแล้วเกิดละเมิดบุคคลอื่นใด หนังสือพิมพ์นั้นไม่มีความรับผิดทางกฎหมายใดๆ ต่อความเห็นของนักข่าวคนนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น หนังสือพิมพ์หรือองค์กรสื่อใดๆ ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับผิดชอบต่อความเห็น ข้อความ ข่าวสาร ข้อมูลใด ที่ปรากฏในสื่อทางสังคมที่ไม่ได้เป็นไปในนามขององค์กรนั้น ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นคนปล่อยความนั้นออกไปก็พึงแสดงความรับผิดชอบต่อกระทำของตนเอง
ในทางกฎหมายนั้นเสรีภาพในการใช้สื่อทางสังคมของนักข่าวหรือคนในอาชีพสื่อสารมวลชนก็ไม่ได้รับความคุ้มครองมากกว่าพลเมืองทั่วไป เมื่อคำถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยนั้นไม่มีกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็น กฎหมายส่วนใหญ่โดยเฉพาะกฎหมายคอมพิวเตอร์มุ่งจำกัดเสรีภาพด้านนี้เป็นหลักใหญ่ ประเทศที่เจริญแล้วออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิประชาชน ประเทศกำลังพัฒนาออกกฎหมายจำกัดสิทธิประชาชน บุคคลทั่วไปมีขีดจำกัดในการใช้สื่อประเภทนี้ในการแสดงความเห็นเพียงใดนักข่าวก็อยู่ในฐานะเดียวกัน ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบอกว่านักข่าวที่ใช้โชเชียลมีเดียแล้วได้รับความคุ้มครองเสรีภาพมากกว่าบุคคลทั่วไป
แต่ในทางสังคม โดยเฉพาะในสังคมไทยซึ่งกำลังตกอยู่ในความแตกแยกเช่นปัจจุบัน ผู้คนมุ่งจำกัดเสรีภาพของฝ่ายตรงข้ามตนและส่งเสริมเสรีภาพของพวกตนที่จะวิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่ายหนึ่งเป็นสำคัญ แม้ในองค์กรสื่อมวลชนก็เกิดสภาพแบบนี้ กล่าวคือ สื่อมวลชนที่เป็นปัจเจกเรียกร้องเสรีภาพของตนในอันที่จะต่อต้านอีกฝ่ายหนึ่งพร้อมๆ กับต้องการให้มีการควบคุมอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่พวกของตัว
สื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก กระแสรอง และโซเซียลมีเดียถูกใช้เพื่อรับใช้เป้าหมายทางการเมืองโดยไม่มีการแยกแยะเลย ความฝักใฝ่โดยเฉพาะทางการเมืองของปัจเจกถูกนำไปใส่ในภาพขององค์กรทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัจเจกนั้นอยู่ในฐานะของผู้บริหารหรือเป็นดาวเด่นในองค์กรสื่อด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่
สภาพความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบันคือ สื่อทุกประเภทถูกนำไปรับใช้การเมือง สื่อเลือกข้างมานานนับทศวรรษแล้วและสภาพการณ์เช่นนี้ได้บดบังความเป็น “มืออาชีพ” ของสื่อมวลชนไทยไปจนหมดสิ้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการนำเรื่องอาหารการกินและรสนิยมทางเพศของตัวเองไปใส่ลงในโซเชียลมีเดียอยู่บ้าง แต่ก็ยังเอา “งาน” และข่าวสารข้อมูลตลอดจนความคิดในฐานะตำแหน่งของตัวเองมาใส่ลงไปด้วย หลายคนปล่อยข่าวประเภท breaking news ผ่าน facebook และ twitter ของตัวเองก่อนจะส่งเข้าสำนักงานด้วยซ้ำไป เราอาจจะต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งด้วยว่า สื่อมวลชนที่เป็นปัจเจกบางคนมีชื่อเสียงและความนิยมมากกว่าองค์กรที่พวกเขาสังกัดอยู่ด้วยซ้ำไป และในสถานการณ์เช่นนั้น องค์นั้นๆ นั่นเองที่ได้ประโยชน์จากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ถ้าเป็นเช่นนั้นองค์กรสื่อเหล่านั้นย่อมปฏิเสธ ความรับผิดชอบในทางสังคมต่อปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นพนักงานของตัวเองไปไม่พ้น เมื่อพนักงานคนดังกล่าวถูกละเมิดย่อมชอบอยู่เองที่องค์กรจะต้องออกหน้ารับแทน การปฏิเสธความรับผิดชอบทางกฎหมายอาจจะกระทำได้ แต่ในทางสังคมแล้วทำไม่ได้ ในเมื่อกฎหมายไม่ได้ความคุ้มครองเขาเหล่านั้น แต่องค์กรสื่อเหล่านั้นมีความจำเป็นต้องวิ่งออกหน้ารับแทนและปกป้องเขาเสมือนหนึ่งเขาได้ปฏิบัติหน้าที่ในร่มธงขององค์กรเลยทีเดียว
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่จะต้องอภิปรายต่อไปคือ องค์กรสื่อหลายแห่งในประเทศไทยได้มีหลักจริยธรรมว่าด้วยการแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดแจ้งแล้ว แต่โดยที่สื่อสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบันนี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองอย่างกว้าวขวาง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชนในระดับปัจเจกนั้นถือว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองด้วยหรือไม่และควรจะได้รับการปฏิบัติจากองค์กรสื่อที่ตัวเองสังกัดอย่างไร
ตัวอย่างสำนักงานสื่อมวลชนแห่งหนึ่งมีบทบัญญัติในประมวลจริยธรรมว่าด้วย แนวปฏิบัติในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและกิจกรรมชุมนุมว่า “การไม่ฝักใฝ่ทางด้านการเมืองเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในอาชีพการทำข่าว ซึ่งหมายความว่าพนักงานด้านงานข่าวของสื่อในเครือฯ จะต้องไม่เป็นสมาชิกของกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองใดๆทั้งสิ้น และต้องไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในฐานะเป็นผู้สนับสนุนของกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองใด”
ในหลักนั้นมีความชัดเจนขนาดที่ว่า “ผู้สื่อข่าวไม่ควรมีภาพปรากฏในข่าวหรือใบปิดใดๆที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหรือองค์กรสาธารณะเพราะการกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้สื่อข่าวมีส่วนได้ส่วนเสียกับพรรคการเมืองหรือองค์กรนั้นๆ”
การปรากฏข้อความในโซเชียลมีเดียอันแสดงออกให้เห็นถึงการสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองหรือการฝักใฝ่ทางการเมืองต่อกลุ่มต่างๆเป็นความผิดตามประมวลจริยธรรมนี้หรือไม่ คำตอบคือเป็นความผิดแน่นอน แต่คำถามคือได้มีการบังคับใช้ประมวลจริยธรรมนั้นๆ กันอย่างเคร่งครัดเพียงใด ข้อเท็จจริงปรากฏค่อนข้างชัดเจนต่อสาธารณชนว่า สำนักงานข่าวหลายแห่งได้แสดงความนิยมชมชอบทางการเมืองต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกันอย่างโจ่งแจ้งแล้ว พนักงานที่ร่วมกิจกรรมการเมืองกับกลุ่มการเมืองที่เป็นนิยมขององค์กรจึงได้รับปล่อยปะละเลย
เมื่อเป็นเช่นนั้นหากจะมีพนักงานอีกคนหนึ่งหรือจำนวนหนึ่งขอให้สิทธิเช่นว่านั้นบ้าง แต่ไปแสดงความนิยมต่ออีกกลุ่มหนึ่งที่ตรงกันข้าม สำนักงานข่าวย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะบังคับใช้ประมวลจริยธรรมใดๆ ได้เลย การบังคับให้ลาออกหรือตักเตือนลงโทษอย่างใดก็ย่อมไม่มีความชอบด้วยหลักปฏิบัติแห่งจริยธรรมทั้งสิ้น
ปัจจุบันนี้ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่วงการสื่อสารมวลชนและองค์กรสื่อต่างๆ จะได้ทบทวนหลักปฏิบัติเช่นนี้กันใหม่ มีทางเลือก 2 ทาง กล่าวคือ ปล่อยเลยตามเลยเหมือนอย่างที่ผ่านๆมา คือใครรักใครชอบใคร กลุ่มใด ก็เชียร์กันออกหน้าออกตาหรือเข้าร่วมกิจกรรมนั้นๆได้โดยชอบ ทั้งบริษัทสื่อนั้นอาจจะตกรางวัลแห่งความดีความชอบในการเคลื่อนไหวนั้นตามสมควรก็ได้ ส่วนทางที่สองคือ ระดมสมองครั้งใหญ่เพื่อปรับปรุงและบังคับใช้ประมวลจริยธรรมดังกล่าวให้เป็นหลักปฏิบัติสมฐานะแห่งมืออาชีพสืบไป
เกี่ยวกับผู้เขียน: สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น(The Nation) มีประสบการณ์ในการทำข่าวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งลุ่มแม่น้ำโขงและปัญหาชายแดนมากว่า 20 ปี
source :- http://www.mediainsideout.net/columnist/2015/09/250