"ดราม่าชาติกำเนิด"..."ตั๊น"อยากเป็นตำรวจ "กานดา"เหน็บแค่อ้างอิงบุญบารมีวาสนาเพื่อประชาสัมพันธ์ของคนที่ได้เปรียบให้ได้เปรียบยิ่งขึ้น
************************************
"ดร.กานดา นาคน้อย"ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอนเนกติกัต UConn แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก"กานดา นาคน้อย" กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังดำเนินการรับ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร แกนนำ กปปส. เข้าเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นกรณีพิเศษ
โดยฝ่ายกำลังพล กองบัญชาการตำรวจนครบาล กำลังประมวลเรื่องเพื่อรับ น.ส.จิตภัสร์เข้าดำรงตำแหน่งรองสารวัตรฝ่ายอำนวยการกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) กองบัญชาการตำรวจนครบาล มียศ ร.ต.ต. มีใจความว่า
ขอแจมดราม่า"ตั๊น จิตภัสร์"อยากเป็นตำรวจ ฉันคิดว่า ดราม่านี้แสดงว่า"ชาติกำเนิด"และนามสกุลในสังคมไทยสร้างชนชั้นวรรณะได้คล้ายการแบ่งวรรณะด้วยชาติกำเนิดในอินเดีย
แต่ฉันก็ไม่รู้ว่าศาสนาพราหมณ์อธิบายชาติกำเนิดด้วยบุญบารมีวาสนาแบบพุทธๆผีๆแบบไทยๆหรือไม่ ฉันไม่เชื่อว่า"บุญบารมีวาสนา"มีจริง เพราะว่าถ้ามีจริงคนพัฒนาเทคโนโลยี คนเก่งได้รางวัลโนเบล นักดนตรี ศิลปินอัจฉริยะ นักกีฬาเก่งๆก็จะเป็นคนมีชาติกำเนิดสูงส่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง
บางคนบอกว่ามีจริง เพราะคนสวยคนหล่อคือคนมีบุญ ฉันก็ไม่เห็นว่านางงามจักรวาลมีชาติกำเนิดสูงส่งตรงไหน ฉันคิดว่าแนวคิดบุญบารมีวาสนา คือการประชาสัมพันธ์ล้วนๆ ใครอยากใช้แนวคิดนี้เพื่อส่งเสริมความได้เปรียบของตนก็เข้ามาร่วมประชาสัมพันธ์ด้วย ก็เท่านั้นเอง
คุณสมบัติ vs. การแข่งขัน : สืบเนื่องมาจากประเด็นตั๊นอยากเป็นตำรวจ ที่ฉันมองว่าชาติกำเนิดตั๊นมีอิทธิพล เพราะฉันไม่เห็นว่าหน่วยงานที่เตรียมจะให้ตำแหน่งตั๊น อธิบายว่าตั๊นเหมาะสมกับตำแหน่ง "กว่า"ผู้สมัครคนอื่นอีกกี่คนเพราะอะไร
สมมุติว่าตั๊นมีคุณสมบัติ (qualification) ตรงต่อตำแหน่ง แต่ตลาดงานในโลกเสรีที่ไม่อิงบารมีชาติกำเนิดนั้น การแข่งขัน (competition) สำคัญกว่าคุณสมบัติ เพราะคนมีคุณสมบัติตรงกับตำแหน่งมีมากกว่า 1 คน ยากที่จะคิดว่าไม่มีผู้สมัครที่คุณสมบัติตรงแม้แต่คนเดียว และต้องยกตำแหน่งนี้ให้ตั๊นเท่านั้น
คนไทยสมัยนี้จบป.เอก ป.โทจากต่างประเทศมากมาย แม้แต่ตำแหน่งผู้ว่าฯแบงค์ชาติ ก็มีคนที่คุณสมบัติตรงกับตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ธปท.มากมายหลายคน
นอกจากนี้ฉันก็สงสัยว่า ถ้าอยากได้คนประสานงานกับต่างประเทศก็รับสมัครคนจบป.โทจากต่างประเทศจะเหมาะสมกว่าหรือไม่ ตั๊นจบป.โทในไทย แม้ว่าตั๊นจบป.ตรีจากตปท.แต่ก็จบมานานหลายปีแล้ว
ดร.กานดา ยังโพสต์อีกว่า "คนเราไม่เท่ากันทางเศรษฐกิจแต่เท่ากันทางกฎหมายค่ะ คุณจะคิดไงก็ได้ว่าใครด้อยกว่าใคร แต่กฎหมายจำกัดว่าคุณจะแสดงออกได้แค่ไหนค่ะ ใครจะเอาความสำเร็จในชีวิตไปผูกไว้กับชาติกำเนิดกับบุญบารมีวาสนาก็เป็นทางเลือกส่วนบุคคล แต่ฉันคิดว่าการอ้างอิงบุญบารมีวาสนาเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ของคนที่ได้เปรียบเพื่อให้ตนได้เปรียบยิ่งขึ้น ถ้าใครเสียเปรียบแล้วยังเชื่อแนวคิดนี้ก็ช่วยไม่ได้นะ"


 
Top