0

ยอดผู้ขอลี้ภัยในอียูพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัวเฉพาะปีที่แล้ว
ยูโรสแตท สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป เปิดเผยว่ายอดผู้ลี้ภัยในสหภาพยุโรปหรืออียูเมื่อปี 2558 มีถึง 1,255,600 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นกว่าเท่าตัว โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย อิรักและแอฟกานิสถาน ตามลำดับ ทั้งนี้ กว่าหนึ่งในสามมุ่งหน้าไปยังเยอรมนี
รายงานข่าวชี้ว่า ในแต่ละวัน มีผู้อพยพเดินทางเข้ากรีซและตุรกีกันอย่างไม่ขาดสายเป็นจำนวนหลายพันคน และขณะนี้ มีคนส่วนหนึ่งติดอยู่ทางตอนเหนือของกรีซด้านชายแดนมาซิโดเนียกว่า 10,000 คนหลังจากที่อียูเริ่มใช้มาตรการปิดกั้นพรมแดน ทั้งนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และนายฟรองซัวร์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกันว่า ต้องการให้ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย พักพิงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยผู้นำทั้งสองรับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือตุรกีในการรับมือกับจำนวนผู้อพยพที่ทะลักเข้าประเทศ
มาตรการปิดพรมแดนภายในประเทศอียูเพื่อบรรเทาปัญหาการทะลักเข้าอียูของผู้ลี้ภัย ส่งผลกระทบต่อข้อตกลงเสรีการเดินทางข้ามประเทศของสมาชิกกลุ่มเชงเก้น โดยคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่าจะมีการเสนอทางออกเพื่อให้ทุกอย่างกลับคืนสู่ปกติภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของมาตรการที่จะเสนอรวมถึงการขอความร่วมมือจากประเทศต้นทางไม่ให้ผลักดันผู้ลี้ภัยออกจากประเทศโดยทันที อีกทั้งอียูจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับกรีซทางด้านปัญหาการควบคุมทางชายแดน
อย่างไรก็ตาม สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UHNCR) ประกาศแผน 6 ข้อเมื่อวานนี้ (4 มี.ค) โดยส่วนหนึ่งระบุว่า ต้องการให้มีการจัดตั้งศูนย์รับลงทะเบียนผู้ลี้ภัยในอียูทุกประเทศ ตามด้วยข้อตกลงเรื่องโควตาผู้ลี้ภัยที่แต่ละประเทศต้องรับ
คริส มอริส ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่า แผนสกัดผู้อพยพไม่ให้ทะลักเข้ายุโรปจะได้ผลก็ต่อเมื่อนายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานสหภาพยุโรปกับประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกันของตุรีหาข้อตกลงกันได้ ทั้งนี้อียูกับตุรกีจะประชุมครั้งใหญ่กันอีกรอบในวันจันทร์นี้
อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่าตุรกี ยังอิดออดไม่อยากรับคืนผู้ลี้ภัยที่เข้ายุโรปไปแล้ว โดยแย้งว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วกว่า 300,000 ล้านบาทในการดูแลผู้อพยพที่หนีสงครามจากซีเรีย อีกทั้งยังต้องดูแลผู้อพยพที่ตกค้างอยู่ถึง 250,000 คน แต่ทว่า อียูซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากตุรกี ก็เสนอสิ่งล่อใจเป็นข้อตกลงให้คนตุรกีเดินทางเข้าออกภายในกลุ่มประเทศเชงเก้นโดยไม่จำเป็นต้องมีวีซ่า อันอาจจะเป็นใบเบิกทางให้ตุรกีได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปสมกับที่รอคอยมานาน นอกจากนี้ ยังเสนองบช่วยเหลือเพิ่มให้อีกประมาณ 110,000 ล้านบาทอีกด้วย
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ระบุว่า เฉพาะปีนี้ มีผู้อพยพเข้ากรีซแล้ว 120,369 คนจากตุรกี โดยมีผู้เสียชีวิตระหว่างทางอยางน้อย 321 คน




แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top