0


ตลาดเอเชียทำให้โรงเรียนนานาชาติขยายตัวโดยเฉพาะจีน พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนแบบตะวันตกแต่ยังคงความเป็นตะวันออก
วีคอมบ์ แอบบี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โรงเรียนนานาชาติรายล่าสุดที่กำลังจะเปิดตัวในเมืองฉางโจว เป็นโรงเรียนกินนอนที่จะสอนหลักสูตรผสมระหว่างจีนกับอังกฤษ โดยลูกค้ากลุ่มเป้าไม่ใช่นักเรียนจากครอบครัวชาวตะวันตกที่เข้าไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศเหมือนช่วงที่มีการตั้งโรงเรียนนานาชาติในระยะแรก ๆ แต่ลูกค้าของโรงเรียนคือคนจีนในประเทศ ซึ่งริแอนนอน วิลคินสัน ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า หัวใจสำคัญคือการใช้ระบบการสอนแบบอังกฤษแต่ด้วยวิธีการแบบจีน “พวกเขาไม่ต้องการถูกกลืนกลายเป็นตะวันตก แต่ต้องการจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในตะวันตก”
ครั้งหนึ่งโรงเรียนนานาชาติเป็นแหล่งรองรับลูกหลานของชาวต่างประเทศที่เข้าไปทำงานในประเทศนั้น ๆ แต่ระยะหลังครอบครัวคนในประเทศส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะใช้เป็นบันไดก้าวไปสู่การได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยตะวันตกทั้งในอังกฤษและสหรัฐฯ
โยจานา ชาร์มา ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจของบีบีซีบอกว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บรรดาผู้ปกครองหลายคนส่งลูกไปโรงเรียนนานาชาติก็เพื่อให้ลูกได้กระทบไหล่กับลูกหลานคนชั้นสูงหรือร่ำรวยชาวตะวันตกในประเทศ จะได้สร้างเครือข่ายเมื่อเติบโตขึ้น นอกจากนี้ยังต้องการหลบหนีระบบการแข่งขันของโรงเรียนภายในประเทศที่เน้นเรื่องการท่องจำและสอบให้ผ่าน ซึ่งวิลคินสันบอกว่า บรรดาผู้ปกครองเป็นห่วงว่าลูกตัวเองจะพบกับแรงกดดันมากไป
งานวิจัยของ International School Consultancy พบว่าขณะนี้ทั่วโลกมีโรงเรียนนานาชาติกว่า 8,000 แห่ง มีนักเรียนราว 4.26 ล้านคน และไม่มีที่ไหนที่จำนวนโรงเรียนนานาชาติจะเติบโตขยายตัวรวดเร็วเท่าในเอเชีย เมื่อ10 กว่าปีก่อน แต่ละประเทศในย่านนี้เคยมีโรงเรียนนานาชาติ 10 กว่าแห่ง แต่ปัจจุบันเฉพาะในไทยมีโรงเรียนที่สอนหลักสูตรนานาชาติ 172 แห่ง ครึ่งหนึ่งใช้หลักสูตรแบบโรงเรียนอังกฤษ
มาเลเซียมี 142 แห่ง ญี่ปุ่น 233 และสิงคโปร์ มี 63 แห่ง ในขณะที่สิงคโปร์เองกลับตั้งกฎเกณฑ์ที่ยากจะให้เด็กต่างชาติเข้าเรียนในโรงเรียนของตน พม่าอาจจะกลายมาเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีการแข่งขันสูง โดยดัลลิชมีแผนจะเปิดสอนที่นั่น ส่วนฮ่องกง เมื่อปี 2543 มี 92 โรงเรียน ขณะนี้มีมากถึง 171 โรง
ริชาร์ด กาสเกลล์ ผู้อำนวยการของ International School Consultancy ที่อยู่ในกรุงเทพฯ บอกว่า ความต้องการที่ส่งจะลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติของครอบครัวชาวฮ่องกงที่มั่งคั่งทำให้โรงเรียนนานาชาติรายสำคัญ ๆ ในฮ่องกงถึงขนาดนั้นต้องมีระบบบัญชีรอเรียก มีเพียงที่เดียวที่ความต้องการนี้หดตัวลงคือที่เกาหลีใต้ แต่ที่จีน เมื่อ 15 ปีที่แล้ว จีนมีโรงเรียนนานาชาติเพียง 15 แห่ง ขณะนี้จำนวนเพิ่มเป็น 530 แห่งมีนักเรียน 326,000 คน ครึ่งหนึ่งของโรงเรียนเหล่านี้อยู่ที่กรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ แต่ก็กำลังขยายตัวออกไปสู่เมืองอื่นๆ ด้วย
วิลเลียม แวนเบอร์เจน ผู้อำนวยการบริหารของบีอี เดดูเคชั่น ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาและเป็นผู้ประสานงานให้วิคอมบ์เข้าไปเปิดโรงเรียนในจีนได้บอกว่า เมืองต่าง ๆ รู้ว่า หากมีโรงเรียนนานาชาติดี ๆ ไปเปิดในก็จะดึงดูดคนให้ย้ายเข้าไปอยู่ได้มากขึ้น
ในจีนนั้นมีชาวต่างชาติไม่ถึงล้านคน เขาบอกว่า ลูกค้าสำคัญไม่ใช่คนเหล่านี้ แต่เป็นคนชั้นกลางของจีนที่กำลังขยายตัว
ทางการจีนเข้มงวดเรื่องการให้เด็กเล็กเข้าเรียนหลักสูตรต่างประเทศ เพราะไม่ต้องการให้เด็กเหล่านั้นได้รับทัศนะในเรื่องประวัติศาสตร์จากข้างนอก แต่สำหรับเด็กวัย 15 ปีขึ้นไป ทางการจะผ่อนคลายมากขึ้น เพราะต้องการให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ นอกจากนั้นคนชั้นกลางที่มีฐานะของจีนมองหาสิ่งที่แตกต่างในโรงเรียนนานาชาติ แคมเบลล์ ดักลาส ผู้อำนวยการโรงเรียนดัลลิชในเมืองซูไฮบอกว่าผู้ปกครองชาวจีนมองหาอะไรที่มากกว่านั้นก็มี เพราะผู้ปกครองหลายคนเริ่มรู้สึกว่า ระบบการศึกษาของประเทศในปัจจุบันไม่เอื้อให้เด็กพัฒนาในเรื่องอื่นนอกจากเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่ในขณะที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกหลานได้เรียนรู้ในระบบแบบต่างประเทศ พวกเขาก็ยังต้องการรักษาขนบธรรมเนียมแบบจีนเอาไว้ด้วย ‪#‎Internationalschool‬





แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top