0

 
ปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าปีที่แล้ว 5,000 ล้าน ลบ.ม. ลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง 1 ล้านไร่ 

นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวกับบีบีซีว่า ปริมาณน้ำในภาพรวม ในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น 33 เขื่อนนั้น มีน้ำอยู่ประมาณ 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ของการเก็บกักน้ำ โดยปริมาณน้ำในเขื่อนที่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์มีถึง 22 เขื่อน ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เขื่อนแม่งัด เขื่อนแม่กวง ในจังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลมในจังหวัดลำปาง รวมทั้ง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนลำพระเพลิง เป็นต้น

“เทียบกับปีที่แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยกว่าปีที่แล้วเกือบห้าพันล้านลูกบาศก์เมตร”

อย่างไรก็ตาม นายทองเปลวอธิบายว่า สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น จะไม่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภ

“ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีทั้งหมด 22 จังหวัด จะสามารถใช้น้ำได้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมอย่างแน่นอน แต่สำหรับการปลูกข้าวนั้น ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรว่าอย่าใช้น้ำในการปลูกข้าว”

ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากล่าวว่า ในปีนี้มีการทำนาปรังทั้งสิ้น 1.9 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 5 แสนไร่ ยังคงเหลือนาปรังอยู่อีก 1.4 ล้านไร่ โดยปริมาณการทำนาปรังในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน 1 ล้านไร่ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรให้ความร่วมมือ ประกอบกับปีนี้หลีกเลี่ยงปัญหากับเกษตรกรโดยการเพิ่มความถี่ในการสื่อสาร และมีการสื่อสารกับเกษตกรให้เตรียมตัวรับภัยแล้งตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว

ด้านกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เริ่มเปิดปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ โดยมีแผนในการเฝ้าระวังและการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว รวม 4 หน่วย ที่สนามบินจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งพร้อมจะเดินทางไปปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ต่างๆ ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ในช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสม เป็นช่วงระยะเวลา 3 - 5 วัน และคาดว่าจะขยายพื้นที่ช่วยเหลือไปยังลุ่มน้ำและภูมิภาคต่างๆ เพิ่มอีก 5 หน่วย ปฏิบัติการได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ขณะนี้มีพื้นที่ปฏิบัติการรวมทั้งสิ้น 17 หน่วยใน 9 จังหวัด วางเป้าหมายการสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ เพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรม ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top