องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเผย สหประชาชาติเรียกร้องไทยปล่อยตัวนักแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า”
FIDH องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปารีส เผยแพร่ข่าวระบุว่า คณะทำงานด้านการควบคุมตัวโดยพลการแห่งสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ไทยปล่อยตัว น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือกอล์ฟ ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และจ่ายค่าชดเชยให้จากการคุมขังโดยพลการด้วย
FIDH เผยแพร่เอกสารข่าวดังกล่าว ในจังหวะเดียวกับที่กระทรวงการต่างประเทศกำลังจะส่งรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยรอบที่ 2 ให้สหประชาชาติ ในวันนี้ (5 ก.พ.)
FIDH ระบุว่า คณะทำงานด้านการควบคุมตัวโดยพลการฯ มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า น.ส.ภรณ์ทิพย์ ถูกควบคุมตัวโดยพลการอันเป็นการขัดกับมาตรา 9 และ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมาตรา 9(3) และ 19(2) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นภาคีอยู่ ซึ่งได้ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และ สิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความเห็นและการแสดงออก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2558 น.ส.ภรณ์ทิพย์ ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง จากความผิดหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงละครเวที เรื่องเจ้าสาวหมาป่า ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2556
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2558 คณะทำงานด้านการควบคุมตัวโดยพลการ แห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศเช่นกันว่า ทางการไทยได้ควบคุมตัวนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม โดยพลการ ทั้งนี้นายปติวัฒน์ถูกจับกุมด้วยข้อหาเดียวกันกับ น.ส.ภรณ์ทิพย์ และถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปีครึ่งเช่นกัน
นอกจากกรณีของนายปติวัฒน์แล้ว คณะทำงานฯ ยังชี้ด้วยว่า ไทยยังลงโทษ จำคุกโดยพลการ อดีตนักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลา 10 ปี นายสมยศ ถูกจับกุมเมื่อปี 2544 หลังจากเผยแพร่บทความ สองเรื่องซึ่งมีเนื้อหาส่อไปในทำนองเสียดสีราชวงศ์ ในนิตยสารที่เขารับหน้าที่ เป็นบรรณาธิการ
คณะทำงานฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนายปติวัฒน์และนายสมยศ และให้ชำระเงินชดเชยให้เช่นกัน
ทั้งนี้ องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน FIDH เผยแพร่เอกสารข่าวดังกล่าว ในจังหวะเดียวกับที่ไทย โดยกระทรวงต่างประเทศ กำลังจะส่งรายงาน สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยรอบที่ 2 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ ภายในวันที่ 5 ก.พ.2559
นสพ.กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เนื้อหาร่างรายงานของกระทรวงต่างประเทศนั้น ประกอบด้วยประเด็นต่าง ๆ ที่แสดงว่าไทยส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อาทิ รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่รับรองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนเท่าเทียมกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการจัดทำประชามติ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ขณะที่ประเด็นที่ถูกจับตามากคือสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งกระทรวงต่างประเทศรายงานว่า ในแง่เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุมนั้น รัฐบาลสนับสนุนการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ไม่กระทบต่อความสงบและปลอดภัย และเปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อการปฏิรูปและรัฐธรรมนูญ
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น