0

Prasitchai Kumbang 

สิ่งที่สั่งสมในใจประชาชน...เมื่อไม่ทำหน้าที่ที่ควรจะเป็น จึงเกิดคำถาม"ทหารมีไว้ทำไม"
**********************************
เรื่องราวส่วนตัวคุณยิ่งลักษณ์เอง รวมถึงคดีคุณยิ่งลักษณ์ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดมาจากช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์ที่ซีเอ็นเอ็นถามเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้ตัวคุณยิ่งลักษณ์เองหรือไม่
.
คำตอบคุณยิ่งลักษณ์น่าสนใจ คุณยิ่งลักษณ์ตอบว่าไม่ต้องการเรียกร้องอะไรให้ตัวเอง แต่อยากให้ประชาชนคนธรรมดาได้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ เพื่อผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะได้ยินเสียงจากประชาชน
.
ผมคิดว่าตรงนี้คือ"ใจความสำคัญ"ของปัญหาการเมืองเราในวันนี้ ก็คือ"ประชาชน"ไม่มีบทบาทที่จะเข้ามากำหนดบทบาทความเป็นไปประเทศชาติ อำนาจตกอยู่ในมือนักการเมือง หรือคนบางคน อำนาจตกอยู่ในมือของงคนที่ไม่ได้มาจากประชาชนเสียด้วยซ้ำในวันนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ เราอาจสนใจปัญหาที่ผูกยึดติดกับนักการเมืองมาก แต่เรา"มองข้าม"ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนคนธรรมดา
.
ผมยกตัวอย่างเช่นน้องนักศึกษา คุณสิรวิชญ์ หรือจ่านิว กับเพื่อนๆทำกิจกรรมรณรงค์ตรวจสอบตั้งคำถามเกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ ว่ามีการทุจริต ไม่ชอบมาพากลหรือไม่ เลยจัดกิจกรรมเชิญชวนนั่งขบวนรถไฟไปตรวจสอบทุจริต ปรากฎว่าวันนี้คุณสิรวิชญ์และเพื่อนถูกต้องข้อหา ตัวสิรวิชญ์ถูกเรียกไปดำเนินคดีในศาลทหาร
.
คำถามคือ แล้วก่อนหน้านี้เวลาเรามีคำถามเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากล การทุจริต การทำหน้าที่ไม่ถูกต้องนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มาจากประชาชน เราก็ออกไปชุมนุมกัน
.
สมัยคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ก็มีคนไม่เห็นด้วยกับการเป็นนายกฯ ก็ออกมาชุมนุมกัน สมัยคุณสมชาย มาถึงสมัยล่าสุดคุรยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯก็มีคนออกมาชุมนุมกัน ชุมนุมในขอบเขตที่ถูกต้องชุมนุมได้ เขาก็ชุมนุมกันไม่เห็นมีรัฐบาลไหนจะห้าม จะเข้าไปห้ามก็ต่อเมื่อการชุมนุมนั้นเกินเลย เช่นไปปิดถนนเป็นเวลา 6 เดือน หรือมีการใช้ความรุนแรง
.
แต่วันนี้นักศึกษาคนธรรมดาที่เขาชวนกันนั่งรถไฟโดยสงบ ไม่มีอาวุธ ไม่ได้ก่อกวนสร้างความรำคาญให้ใคร เพื่อไปรณรงค์ให้เกิดการตั้งคำถามตรวจสอบต่อการทุจริตในวงราชการของทหาร ซึ่งวันนี้เข้ามาเป็นนักการเมือง กลับถูกลากตัวขึ้นไปศาลทหาร
.
นี่ไม่ใช่คดีเดียว ยังมีกรณีอื่นๆ ซึ่งอาจไม่ถึงศาลทหาร แต่อาจเข้ามาคุกคามประชาชนคนธรรมดา ล่าสุดยกตัวอย่างกรณีงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ก่อนที่นักศึกษาธรรมศาสตร์จะนำขบวนล้อการเมืองเข้าสู่สนามก็มีทหารเข้ามาสั่งห้าม สั่งให้ตัดปืนที่นักศึกษาทำขึ้นมา
.
มันก็น่าคิดว่านักศึกษามหาวิทยาลัยเดียวกันนี้ ก็เคยทำขบวนล้อการเมือง ประชดประชัน หรือตั้งคำถามไปยังนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง สมัยคุณยิ่งลักษณ์ก็โดน สมัยคุณอภิสิทธิ์ก็โดน สมัยคุณทักษิณยิ่งโดน สมัยนั้นก็ไม่เห็นมีนักการเมืองมาสั่งห้ามนักศึกษา
.
แต่วันนี้ทหารกลับไม่ต้องการให้นักศึกษาสามารถตั้งคำถามไปยังผู้ใช้อำนาจ เพราะผู้ที่ใช้อำนาจมาบังคับประชาชนกลับมาเป็นทหารเสียเอง
.
ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันคือสิ่งที่"สั่งสม"มาใน"จิตใจ"ของประชาชนคนธรรมดา จนนำไปสู่คำถามที่พูดกันเยอะว่า "ทหารมีไว้ทำไม"
.
คำถามนี้ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งคำถามในบทความไม่ได้ต้องการจะบอกว่าทหารไม่จำเป็นและไม่สมควรมีอยู่เลย ถ้ากลับไปอ่านบทความนั้นดีๆ บทความนั้นพูดเสียด้วยซ้ำว่า บทบาทของกองทัพ ทหารไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ในระดับสากลก็มีความสำคัญ มีทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลว
.
สิ่งที่อ.นิธิและพวกเราหลายๆคนตั้งคำถามขึ้นมา ก็เพื่อให้เรามาทบทวนว่าทหารมีไว้ทำไม แล้วที่มีไว้ทหารได้ทำหน้าที่ตรงนั้นหรือเปล่า

.
พอมีการตั้งคำถามนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือมีการนำภาพ นำรูป นำข้อความของทหารที่ไปถือปืน รักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณชายแดนป้องกันข้าศึกศัตรูไม่ให้มารุกรานประเทศไทย มีภาพทหารออกไปลำบากช่วยเหลือประชาชนในยามที่น้ำท่วม
.
นั่นแหละครับ นั่นคือคำตอบว่าทหารมีไว้ทำไม เพราะหน้าที่ของทหารที่คนใช้รูปภาพออกมาโต้แย้งคำถามนี้ ก็บอกอยู่ในตัวอยู่แล้วว่าทหารมีหน้าที่ของ"ทหารมืออาชีพ" พิทักษ์ความมั่นคง ปกป้องดินแดน ช่วยประชาชนยามเจอภัยธรรมชาติรุนแรง
.
แต่ทหารไม่ได้มีไว้เพื่อจะมาปกครองบ้านเมือง ทหารไม่ได้มีไว้เพื่อจะมาสั่งห้ามประชาชน นิสิตนักศึกษาตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากล ความผิดปกติ
.
นี่แหละคือสาเหตุที่ทำไมประชาชนคนธรรมดาถึงตั้งคำถามถึงทหาร เพราะฉะนั้นคำถามนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะมีประชาชนนึกสงสัยขึ้นมา แต่เดิมเราก็ไม่ได้ตั้งคำถามว่าคนนั้นมีไว้ทำไม คนนี้มีไว้ทำไม
.
คำถามว่าอะไรหรือใครมีไว้ทำไม จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ"คนๆนั้น" หรือ"วัตถุๆนั้น" ไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น และเมื่อทหารวันนี้ออกนอกกรอบทหารมืออาชีพที่ประชาชนคาดหวังและต้องการ กลายมาเป็นนักการเมืองซึ่งป้องกันไม่ให้ประชาชนมาตรวจสอบตัวเอง มันจึงเกิดคำถามว่า"ทหารมีไว้ทำไม"
.
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top