0


มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนปีละ 5.5 ล้านคน
งานวิจัยชิ้นล่าสุดของโครงการ Global Burden of Disease พบว่า มลพิษทางอากาศเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 5.5 ล้านคนทั่วโลก ด้านผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆเพิ่มความพยายามคิดหานโยบายเพื่อแก้ปัญหามลพิษ
งานวิจัยชิ้นนี้บ่งชี้ว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่าง จีน และอินเดีย ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีตัวการสำคัญมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็กจากโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียรถยนต์ การเผาถ่านหินและไม้
ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สถิติที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจะต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพอากาศที่ประชาชนสูดหายใจเข้าไป โดยในกรุงปักกิ่งและกรุงนิวเดลีนั้นพบว่าในวันที่คุณภาพอากาศเลวร้ายจะมีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกินกว่าระดับ 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งระดับที่ปลอดภัยอยู่ที่ 25 – 35ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ การสูดหายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ว่าจะอยู่ในสภาพของเหลวหรือของแข็งสามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน หรือฉีกขาด โรคระบบทางเดินหายใจ หรือแม้แต่โรคมะเร็ง ซึ่งแม้ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหานี้ไปมากในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา แต่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศกำลังพัฒนากลับยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยข้อมูลเมื่อปี 2556 พบว่า จีนมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศปีละ 1.6 ล้านคน ส่วนอินเดียอยู่ที่ราว 1.3 ล้านคน สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในจีนมาจากการเผาถ่านหิน ขณะที่ปัญหาในอินเดียส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไม้ มูลสัตว์ ซากพืชที่เหลือจากการทำเกษตร และการเผาฟืนเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top