0

ชายไทยป่วยด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันสูงกว่าผู้หญิง 3 เท่า แพทย์แนะต้องส่งโรงพยาบาลทันที อย่ารอดูอาการ
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. เผยข้อมูลสำรวจการให้บริการผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ว่าจากการเก็บสถิติ พบว่าผู้ป่วยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า และผู้ป่วยหรือญาติมักปล่อยรอดูอาการก่อนทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น พร้อมแนะนำ หากพบเห็นผู้ป่วยในภาวะจุกแน่นหน้าอก ชาที่แขนซ้าย ควรส่งถึงมือแพทย์ภายใน 3 ชม.
จากข้อมูลที่สพฉ. ร่วมกับ พ.ต.หญิงพัชราภรณ์ อุ่นเตจ๊ะ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก และ รศ.ดร.ศิริอร สินธุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำวิจัย เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยสำรวจการให้บริการผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จากผู้ป่วย 540 คน 18 โรงพยาบาล ใน 5 ภูมิภาค พบว่า 72% ผู้ป่วยจะมีอาการที่บ้าน และเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังมีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วนและเบาหวาน
โดยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุด้วยว่า สถานการณ์ของโรคหัวใจในประเทศไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีสถิติของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการทางโรคหัวใจ รวม 130,942 คน แบ่งเป็น อาการหายใจลำบาก ติดขัด มากที่สุด 99,052 คน รองลงมาคือ เจ็บแน่นทรวกอก 31,035 คน และ หัวใจหยุดเต้น 855 คน
ทั้งนี้สพฉ. ได้ระบุแนวทางป้องกันโรคหัวใจว่า ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม เกินไป เพราะจะทำให้มีเกิดการสะสมไขมันในหลอดเลือด โดยควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากมาก ๆ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่น ๆ ที่จะทำอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด และยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับงาน ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป และตรวจเช็คสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top