ความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia)
ทั้งโลกตะวันตกและไทย
บทความพิเศษ โดย อุสตาซอับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์พระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน
ความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) เป็นศัพท์ใหม่ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และได้รับการนิยามในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์อันหนึ่ง เกี่ยวกับความมีอคติที่มีต่อชาวมุสลิมในฐานะปีศาจร้าย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แสดงถึงท่าทีในเชิงลบ, ความรุนแรง, ความรู้สึกกลัดกลุ้ม, การแบ่งแยก และทัศนคติตายตัว
สำหรับศัพท์คำนี้ย้อนวันเวลากลับไปได้ถึงปลายทศวรรษที่ 1980 หรือช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 แม้ว่ามันจะถูกนำมาใช้มากขึ้นนับจากเหตุการณ์การโจมตีในวันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นต้นมาก็ตาม
นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวกับที่ประชุมยูเอ็นในปี 2004 ว่า "เมื่อโลกได้ถูกบีบบังคับให้ประดิษฐ์ศัพท์คำใหม่คำหนึ่งขึ้นมา เพื่ออธิบายเกี่ยวกับการแสดงความรู้สึกหรือความเชื่ออย่างไม่มีเหตุผลที่แพร่กระจายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นความน่าเศร้า และกำลังสร้างปัญหาต่อการพัฒนาขึ้นตามลำดับ ตัวอย่างเช่น กรณีเกี่ยวกับคำว่า "อิสลาโมโฟเบีย" (Islamophobia - ความหวาดกลัวอิสลาม) เป็นต้น
แนวความคิดนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ ในด้านหนึ่งนั้น นักวิจารณ์บางคนมองอิสลาโมโฟเบียในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งได้เข้ามาแทนที่รูปแบบเก่าๆ ของเชื้อชาติ/เผ่าพันธุ์นิยม (racism)
ยกตัวอย่างเช่น Anja Rudiger หัวหน้าผู้ประสานงานของศูนย์ European Monitoring Centre on Racism and Xenophobia, (ศูนย์ดูแลตรวจสอบยุโรปเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์นิยมและความรังเกียจคนต่างชาติ) ได้ให้เหตุผลว่า มันไม่มีการยอมรับอีกต่อไปแล้วที่จะใช้เรื่องของสีผิวในฐานะที่เป็นเหตุผลหรือคุณลักษณะการแบ่งแยกผู้คน ปัจจุบัน ศาสนา-วัฒนธรรม ดูเหมือนว่าได้กลายมาเป็นเครื่องหมายต่างๆ ของการจำแนกแตกต่างโดยธรรมชาติ
เธอได้บันทึกว่า อิสลามได้กลายเป็นคนอื่นใหม่ (the new other) ขึ้นมา...
หลายคนได้เรียกมันว่าเป็นมายาคติ โดยให้เหตุผลอ้างอิงถึงความสับสนในอิสลาโมโฟเบีย การวิพากษ์วิจารณ์อย่างชอบธรรมเกี่ยวกับอิสลามด้วยความคิดแบ่งแยก (discrimination) ต่อชนชาวมุสลิมทั้งหลาย และบางครั้งบางคราว โลกได้ถูกชักนำไปในหนทางที่ผิดๆ เพื่อโจมตีความเป็นปรปักษ์ทั้งหมดของลัทธิอิสลามหัวรุนแรง (Islamic radicalism)
(กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน : เรียบเรียง ต้นฉบับ Islamophobia บางส่วนจากสารานุกรม นำมาจาก : http://en.wikipedia.org/wiki/Islamophobia)
ความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ในโลกตะวันตก
ความเป็นจริงแล้วความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) แบบเหมารวม ในโลกตะวันตกมิใช่มีกระแสแรงช่วงชาร์ลี เอ็บโด ปฏิบัติการ ISIS แต่มันเคยจุดติดหลังการก่อการร้ายครั้งสะเทือนโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 (พ.ศ.2544)
หลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 มีผลสำรวจของแกลลัพ โพลล์ (Gallup Poll) ซึ่งได้สอบถามความคิดเห็นของชาวอเมริกัน พบว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากถึง 22% ไม่ต้องการมีเพื่อนบ้านเป็นชาวมุสลิม
และ 34% เชื่อว่า ชาวมุสลิมในสหรัฐอเมริกานั้นสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะห์
และ 39% เสนอว่าชาวมุสลิมในสหรัฐอเมริกา ควรมีบัตรประจำตัวประชาชนที่ทำขึ้นเป็นพิเศษอีกด้วย
ส่วนในยุโรป เช่น อังกฤษ หลังระเบิดรถไฟใต้ดินสามแห่ง และรถประจำทางสองชั้นคันหนึ่งในกรุงลอนดอน เมื่อช่วงเวลารีบด่วนของสายวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2548 ทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงบาดเจ็บอีกเกือบพันคน และเหตุการณ์ระเบิดรถไฟใต้ดิน และรถประจำทาง 4 จุด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ได้สร้างความไม่พอใจของคนอังกฤษต่อมุสลิม ในประเทศอังกฤษจำนวนมาก
จนทำให้เกิดการทำลายศาสนสถาน มัสยิด หรือแม้กระทั่งคนมุสลิมเองรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ใครที่เป็นมุสลิมจะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากตำรวจและหน่วยสืบราชการลับ
หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ได้รายงานว่า หน่วยงานราชการอย่างกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษ ยังได้ขอความร่วมมือคณาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในอังกฤษ คอยจับตานักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะมีส่วนร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรงหรือสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ในสเปนก็มีการทำผลการสำรวจในปีที่ผ่านมาของ "สถาบันแอลคาโน" ในสเปน ซึ่งระบุว่า ชาวสเปนถึง 68% มองว่าสังคมมุสลิมเป็นสังคมแห่งความรุนแรง และอีก 74% เชื่อว่าได้เกิดการปะทะทางอารยธรรมระหว่างประเทศตะวันตกและโลกมุสลิมแล้ว
ในอิตาลีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ผู้นำอิตาลี ได้เคยกล่าวถ้อยแถลงแสดงความไม่พอใจกลุ่มมุสลิมหลายครั้ง และยกย่องอารยธรรมตะวันตกว่ามีความเหนือกว่าอารยธรรมอิสลาม ในออสเตรเลียผลการสำรวจของแกลลัพ โพล ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ซันเดย์ เฮอรัลด์ ซัน ในออสเตรเลีย เมื่อประมาณปี 2551 ระบุว่า คนออสเตรเลีย 4 ใน 10 เชื่อว่าศาสนาอิสลามถือเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงชีวิต
และ 1 ใน 3 คน ยอมรับว่ารู้สึกกลัวชาวมุสลิมมากขึ้น นับตั้งแต่เกิดโศกนาฏกรรม 11 กันยายน 2544 ที่สหรัฐเป็นต้นมา
ความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ในประเทศไทย
นั่นคือภาพรวมของคำว่าอิสลามโฟเบียในอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย
ขณะเดียวกัน อิสลามโฟเบียก็ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะเมื่อ 1 มีนาคม 2558 มีการประท้วงการก่อสร้างมัสยิดที่จังหวัดน่าน
พี่น้องชาวจังหวัดน่านส่วนหนึ่ง ต่อต้านการสร้างมัสยิดของพี่น้องมุสลิม ด้วยการอ้างเหตุผลว่า "ชาวน่านไม่เอามัสยิด เพราะหวั่นกระทบพุทธศาสนาเอกลักษณ์เมืองน่าน พร้อมเรียกร้องว่าหากไม่มีใครฟังจะมีประท้วงหนักขึ้นอีกแน่"
ความเป็นจริงความหวาดกลัวอิสลาม(Islamophobia) ในประเทศไทยมิใช่พึ่งเกิด หากเราติดตามข่าวจะพบว่าปรากฏการณ์นี้เป็นผลจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ตัวอย่างคณะสงฆ์3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกแถลงการณ์จำนวน 20 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทักษิณขณะนั้น แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องดังกล่าว มีการเสนอให้ยุติบทบาทการทำงานของ "คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ" หรือ (กอส.) รวมอยู่ด้วย เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความเป็นกลาง โดยมักเข้าข้างและเห็นใจกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและมุสลิม
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับเป็นบทสะท้อนความรู้สึกพระสงฆ์3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อบทบาทการแก้ปัญหาความไม่สงบ ในฐานะศิษย์ตถาคตผู้เฝ้าดูการแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความนิ่งเงียบมานาน เป็นเสียงสะท้อนที่ทุกฝ่ายไม่อาจดูดาย
"พระมหาภูษิต ฐิตสิริ" พระนักเทศชื่อดังและครูสอนนักธรรมแห่ง "วัดพระศรีมหาโพธิ์" ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี แสดงความเห็นถึงการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอส. ช่วงที่ผ่านมาว่า... "เกิดปัญหาขึ้นแต่ละครั้งจะสอบถามคนไทยพุทธไม่ค่อยจะมี ถามแต่คนมุสลิม หากคนไทยพุทธเกิดปัญหาจะไม่มีอะไรมากนัก เสนอข่าวแล้วก็เงียบไป แต่พอเกิดกรณีกรือเซะ ตากใบ ทำไมยกปัญหาขึ้นมาดีเด่นซึ่งตรงนี้มันก็ดี แต่ยกเป็นเรื่องสำคัญมากเกินไป"?
"ที่ผ่านมามีชาวบ้านมาบ่นว่าทีคนไทยพุทธโดนทำร้ายทำไมไม่ให้ความสำคัญบางคนบ่นว่าเขาไปสมานฉันท์แต่ฝ่ายอื่น ส่วนตัวอาตมาไม่ได้คิดอะไรมาก การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเป็นระบบที่เอื้อต่อการเมือง แม้ไม่มีใครมาให้ความสนใจ แต่เชื่อว่าในหมู่ชาวไทยพุทธจะดูแลไม่ทอดทิ้งกัน"
จากความคิดของคณะสงฆ์ดังกล่าวย่อมสะท้อนความตึงเครียดความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจกันจนนำไปสู่ความแค้นระหว่างประชาชนมุสลิม-พุทธ (ดังเช่นเหตุการณ์ที่บ้านสันติ 1 อำเภอบันนังสตาร์ และบ้านสันติ 2 อำเภอธารโต จังหวัดยะลา, ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549)
และมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือ การเกิดขึ้นของกลุ่มชาวพุทธจังหวัดชายแดนใต้ ที่เรียกร้องให้เผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไขปัญหา ถึงแม้จะมีเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพไม่เห็นด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อใจไทยมลายูมุสลิม มุสลิมหวั่นระแวงว่าไทยพุทธจะมองในแง่ร้าย ไทยพุทธสงสัยความบริสุทธิ์ใจของไทยมลายูมุสลิม มุสลิมสูญเสียความเชื่อมั่นในความเที่ยงธรรมของฝ่ายบ้านเมือง ฯลฯ
ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป สายสัมพันธ์ระหว่างคนทุกฝ่ายในสังคมก็คงพังลงไปอย่างไม่มีชิ้นดี
บทสรุปและทางออกของปัญหา
กล่าวโดยสรุปหากปล่อยให้สถานการณ์ดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ในสังคม แน่นอนความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจก็จะแสดงถึงความหมางเมินเหินห่าง เป็นร่องรอยของความไม่ผสมกลมเกลียวระหว่างคนแต่ละฝ่ายในสังคม เกิดความแตกแยก บั่นทอนความสมานฉันท์นำไปสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ
ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจดังกล่าวเริ่มต้นจากความ"ไม่รู้" ที่บานปลายจนเห็นคนอื่นเป็น "คนแปลกหน้า" ถึงขั้นที่หวาดระแวงอย่างลึกซึ้ง
สำหรับทางออกของปัญหา
หนึ่ง การแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ดีที่สุดคือ มุสลิมเองจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี กล้าวิจารณ์ศาสนิกตนเองเมื่อประพฤติไม่ดี
การที่สังคมนอก ที่ไม่ใช่มุสลิมเข้าใจสิ่งดังกล่าวโดยใช้คำว่า มุสลิมหัวรุนแรง, กลุ่มก่อการร้ายมุสลิม, เครือข่ายก่อการร้ายมุสลิมสากล ถึงแม้มุสลิมส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้เมื่อสื่อไทยหรือเทศ รายงานข่าวหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย แต่สิ่งหนึ่งที่มุสลิมเองจะต้องยอมรับคือ มีมุสลิมส่วนหนึ่งจริงๆ (ส่วนน้อยของประเทศไทย หรือทั่วโลก) เป็นผู้ปฏิบัติการ
ศาสนิกชนต้องกล้าวิจารณ์และก้าวให้พ้นจากการเป็นพวกเขาพวกเราหรือขยายความเป็นพวกเราให้กว้าง คือต้องคิดว่าทุกศาสนาเป็นเพื่อนกัน ต้องเป็นกัลยาณมิตร
ตอนนี้มีความไม่สมมาตรคือศาสนิกชนไม่กล้าวิจารณ์ตัวเอง ไม่กล้าวิจารณ์ความรุนแรงเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่น ความมีทิฐิทางความเชื่อและอุดมการณ์ในกลุ่มตนจนสุดโต่งหรือ "อะสอบียะห์" ในภาษาอาหรับซึ่งศาสนทูตมุฮัมมัดเคยสาปแช่งไว้
"พวกเจ้าจงระวังความคลั่งในศาสนาเพราะแท้จริงสิ่งที่ทำให้ชนรุ่นก่อนต้องพินาศก็คือ ความคลั่งในศาสนานั่นเอง"
แนวคิดสุดโต่งด้านศาสนาในหมู่มุสลิมย่อมมีปัจจัยเกื้อหนุนชัยคฺ ศ.ดร.ยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ (ชาวอียิปต์) ประธานของสหภาพนักปราชญ์มุสลิมนานาชาติ (IUMS) ยอมรับในแนวคิดสุดโต่งในหมู่มุสลิมเอง และกล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ ของแนวคิดสุดโต่งและชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามาจาก
1. การขาดแนวคิดสายกลาง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้แนวคิดอิสลามสายกลางเป็นที่แพร่หลายในหมู่คนหนุ่มสาว เพื่อที่พวกเขาจะพบวิถีทางที่ถูกต้องแทนที่พวกเขาจะทำตัวไม่เปิดเผย ซึ่งการขาดแนวคิดเช่นนี้ได้เปิดโอกาสให้แนวคิดสุดโต่งแทรกเข้ามา
2. การขาดอุละมาอฺ (นักปราชญ์อิสลามศึกษา) ที่แท้จริง ซึ่งสามารถให้ความเชื่อมั่น (ต่อแนวทางสายกลาง) ด้วยหลักฐานที่มาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ (วจนศาสดา) พวกเขาได้หายไปจากสนามแห่งนี้ จึงเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ขาดคุณสมบัติที่ถูกเรียกว่าอุละมาอฺซึ่งทำงานเพื่อผู้ที่มีอำนาจ
ดังนั้นคนหนุ่มสาวจึงสูญเสียความเชื่อมั่นไป และได้ตั้งตัวพวกเขากันเองให้เป็นชัยคฺ (คือเป็นโต๊ะครูหรือนักปราชญ์อิสลามศึกษา) ในการฟัตวา (วินิจฉัยหลักศาสนา) ประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน
3. การแพร่กระจายของความชั่วร้ายและเพิ่มขึ้นของการกดขี่ในสังคมเป็นเหตุผลที่สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรง
ไม่เพียงปัจจัยภายในมุสลิมแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยภายนอกทั้งจากโลกตะวันตกการวาดการ์ตูนล้อเลียนศาสนทูตมุฮัมมัดภายใต้เสรีภาพ รัฐบาลกลางของไทยใช้นโยบายการทหารนำการเมืองที่ทำให้ผลักให้วัยรุ่นเข้าร่วมจับอาวุธหรือเข้าร่วมกับแนวคิดสุดโต่งเพื่อแก้ปัญหาจากการใช้ความรุนแรงในการตอบโต้เช่นกัน
การแก้ปัญหาก็คือทุกศาสนิกต้องกล้าที่จะวิจารณ์ตัวเองว่า ในศาสนิกของเราบางคนมีความผิดพลาด ต้องไม่ยึดติดกับการเป็นพวกเรา ตอนนี้ยึดติดตรงนี้มาก พอเป็นพวกเราก็ไม่วิจารณ์ แต่วิจารณ์ศาสนิกอื่น
ที่ผ่านมา หากคนในศาสนาเรามีความผิดพลาดเรามักปกป้อง ไม่ยอมพูดว่าคนของเราทำความผิดพลาดอะไรบ้าง
เราต้องไม่ปกป้องและไม่ควรกลัวพวกเขาด้วย
สถานการณ์ในขณะนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันมีสิ่งที่ไม่น่าดูทั้งในพุทธศาสนิกชนและอิสลามิกชน มีอยู่ในบางบุคคล แต่ศาสนิกชนไม่กล้าท้วงติงความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะกลัวถูกวิจารณ์ กลัวการถูกโจมตี
จึงกลายเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะกลุ่มเหล่านี้กำลังถูกพวกหัวรุนแรงคลั่งชาติ คลั่งลัทธิศาสนาผูกขาดความคิดของสังคม กลุ่มผูกขาดนี้จะเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ และขยายให้ใหญ่โต ศาสนิกชนต้องกล้าท้วงติง ไม่มีการปกป้อง และต้องทำด้วยความเมตตา ทำด้วยสันติภาพ ทำด้วยความเข้าใจ
สอง การหนุนเสริมแนวคิดสายกลาง
ศาสตราจารย์ ดร.อิรฟาน อับดุลฮาหมีด ฟัตาห์ อาจารย์ประจำวิชาศาสนาเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย ได้บรรยายให้ นิสิตปริญญาเอก (รวมทั้งผู้เขียนในปี 2548) วิชาศาสนาเปรียบเทียบว่า
"แต่ละศาสนาจะมีศาสนิกอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้เป็นแนวคิดสุดโต่ง 2.ผู้ที่ละเลยต่อศาสนา 3.ผู้มีแนวคิดสายกลาง กลุ่มที่หนึ่งและสอง จะนำความเสื่อมเสียให้กับสังคมและเป็นภัยคุกคามต่อโลก ในขณะที่ผู้ที่มีแนวคิดสายกลางจะนำความผาสุกและสันติสุขต่อโลกนี้"
ในขณะเดียวกันกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคนที่ละเลยต่อศาสนา (บางคน) ไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาได้ใช้ และละเว้นในสิ่งที่ศาสนาห้าม ส่วนมากกลับมีบทบาทมากในสังคม
และสิ่งที่อันตรายที่สุดคือ เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีอำนาจในการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะและการออกกฎหมายของประเทศ
กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในองค์กรของรัฐหรือองค์กรเอกชนที่ทำมาค้าขาย(ที่เกี่ยวกับปัจจัยยังชีพของประชาชน) แน่นอน กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่สนใจในธรรมมาภิบาล
กลุ่มคนเหล่านี้จะเข้าหาศาสนาบ้างก็ในแง่พิธีกรรมเท่านั้นเช่น เมื่อขึ้นบ้านใหม่และตาย ก็จะเชิญผู้นำศาสนามาทำพิธีกรรม เป็นต้น แต่แนวทางการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กลับไม่นำศาสนามาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต
การขับเคลื่อนแนวคิดสายกลางผ่านวิธีการดังนี้เช่น
1.นำแนวคิดสายกลางไปเผยแผ่ในองค์กรตนเองและนอกองค์กร
2. เผยแผ่แนวคิดทางสายกลางให้องค์กรต่างๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่
3. จัดตั้งศูนย์การศึกษาวิจัยแนวคิดสายกลางนานาชาติและประจำประเทศไทย
4. จัดอบรมสัมมนาแนวคิดสายกลางระดับนานาชาติและระดับประเทศ
ทำสรุป แปลเนื้อหาที่ได้รับการอบรมและตีพิมพ์
5. ปรับปรุงหลักสูตรอิสลามศึกษาโดยใช้แนวคิดสายกลางขับเคลื่อนทุกระดับ
6. จัดทำสื่อทุกรูปแบบในการรณรงค์แนวคิดสายกลางร่วมทำงานร่วมกับศูนย์ชัยค์อัลก็อรฎอวีย์
สาม ศาสนเสวนาหรือสานเสวนา
หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของสันติวิธีที่จะต้องรีบทำคือ"ศาสนเสวนามุสลิม-พุทธ-และต่างความเชื่อ-วัฒนธรรม" ศาสนเสวนาหรือสานเสวนา จะต่างกับการสนทนาทั่วไปตรงที่ไม่มีการคุกคาม "อัตลักษณ์" ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะมุ่งให้ผู้ร่วมศาสนเสวนารับฟังและเรียนรู้จุดยืนซึ่งกันละกัน บนพื้นฐานการให้เกียรติความแตกต่างโดยปราศจากการครอบงำ หรือบีบบังคับ ไม่มีการโน้มน้าวหรือบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนแปลงความคิด ความศรัทธาของตน หากแต่เป็นการเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน
อัลลอฮฺเจ้าได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานความว่าท่านทั้งหลายจงสานเสวนาด้วยวาจาที่สุภาพยิ่งด้วยเหตุและผล
(โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัลอันนะห์ลุ.16 : 125) และอัลลอฮฺเจ้ายังได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานอีกความว่า "ไม่มีการบังคับในเรื่องศาสนา" (โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัล บะกอเราะฮฺ 2 : 256)
สี่หนุนเสริมกระบวนการสร้างทักษะทางวัฒนธรรม
ทักษะวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่ง"การบริหารจัดการวัฒนธรรม" (Cultural management) ที่ต้องการสร้างให้ผู้คนได้เรียนรู้ว่าและมีทักษะว่า "เขาควรทำหรือไม่ควรทำอะไร" (do and don"t) มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ทั้งชีวิตสำหรับผู้คนที่เห็นถึงความสำคัญในการอยู่ร่วมกัน
ทักษะทางวัฒนธรรมของผู้คนจะเป็นกุญแจสำคัญให้ผู้คนโดยเฉพาะข้าราชการทหาร และพลเรือนที่ไปปฏิบัติราชการในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนผู้คนทั่วไปซึ่งมีความกระหายใคร่รู้ในวิถีชีวิตของผู้คนได้ตระหนักในศักยภาพของการทำงานในมิติวัฒนธรรมเพื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและหันกลับมาพัฒนาทักษะทางวัฒนธรรมของตนเอง
ทักษะทางวัฒนธรรมข้างต้นทำให้แต่ละฝ่ายมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นต่อความสงสัยขั้นพื้นฐาน
อาทิทำไมมุสลิมต้องละหมาด ทำไมมุสลิมต้องสร้างมัสยิด ทำไมคนมุสลิมไม่ทานหมู ทำไมผู้หญิงมุสลิมต้องคลุมศีรษะ และทำไมมุสลิมถึงต้อง...
ในขณะเดียวกัน มุสลิมจะได้ทราบว่าทำไมคนพุทธต้องสร้างวัด ไหว้พระ
ตลอดจนทำไมคนพุทธจึงกลัวมุสลิมจนเกิดการต่อต้านในที่สุดอย่างเหตุการณ์การประท้วงสร้างมัสยิดที่น่านอาจจะทำให้มุสลิมจะต้องระมัดระวังมากขึ้นในการกระทำสิ่งใดถึงแม้จะเป็นคำสั่งใช้ของศาสนา
แต่เมื่ออยู่อีกชุมชนหนึ่งมุสลิมอาจต้องเพิ่มการสร้างความเข้าใจจนเกิดความไว้วางใจ และในหลักการอิสลามก็มีเรื่องยืดหยุ่นพอ ตราบใดที่ไม่ทำให้ผิดหลักศาสนา
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 28 ส.ค. 2558
source :- http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441442772
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น