นอกจากการทำความเข้าใจกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอดีตแล้ว เราควรทำความเข้าใจกับสภาพเศรษฐกิจโลกด้วย เพราะตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งยิ่งใหญ่ในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทย ระบบทุนนิยมของทุกประเทศ รวมถึงไทยด้วย จะผูกพันกับระบบโลกในลักษณะที่ใครๆ เรียกกันว่า “โลกาภิวัฒน์” และปัญหาการส่งออกของไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็มาจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐ ยุโรป และจีน บวกกับปัญหารัฐบาลทหารเผด็จการ
เราทราบกันว่าตอนนี้มีข้อกังวลมากมายเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในขั้นตอนแรก แต่ในระยะยาวจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของทุกประเทศ
วันก่อนผมไปฟังปาฐกถาในงาน “มาร์คซิสม์2015” ที่ลอนดอน โดยนักเศรษฐศาสตร์มาร์คซิสต์ชื่อ ไมเคิล โรเบิรตส์[1] เขาเสนอว่าวิกฤตทั้วโลกปัจจุบัน ซึ่งเริ่มในปี ค.ศ. 2008 เป็น “วิกฤตระยะยาว” หรือ Depression ไม่ใช่วิกฤตระยะสั้น หรือ Recession
ข้อแตกต่างระหว่างวิกฤตสองชนิดนี้คือ ในกรณีวิกฤตระยะสั้น มีการดิ่งลงของเศรษฐกิจ แต่ภายในไม่นานการขยายตัวก็เด้งกลับมาสู่ระดับเดิม แต่ในกรณีระยะยาว เมื่อมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มันไม่ฟื้นกลับสู่ระดับเดิมก่อนวิกฤต และมันคาราคาซังอยู่ในระดับแย่ๆ นานพอสมควร (ดูกราฟบนซ้าย) นี่คือลักษณะของ “วิกฤตระยะยาว” คริสต์ทศวรรษที่ 1930 และเป็นลักษณะปัจจุบันของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง
ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ ของโลก แสดงให้เราเห็นว่าตอนนี้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร (rate of GDP increase / head หรืออัตราการขยายตัวของมูลค่าที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศหาญด้วยจำนวนประชากร) ไม่ได้กลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี 2008 เลย นอกจากนี้ระดับการค้าขายทั่วโลกก็ชบเชาเมื่อเทียบกับก่อนปี 2008 และในหลายๆ ประเทศอัตราเงินเฟ้อใกล้เคียงกับ 0 หรือไม่ก็ติดลบ อัตราเงินเฟ้อแบบนี้เป็นตัวชี้วัดว่ากำลังซื้อในเศรษฐกิจตกต่ำ
ไมเคิล โรเบิรตส์ อธิบายว่านักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักของกลุ่มทุน พยายามปิดหูปิดตาถึงเรื่องนี้ หรือในหมู่คนที่ยอมรับว่ามีปัญหาทั่วโลก มีการเสนอคำอธิบายแบบไร้สาระมากมาย เช่นมีการพูดว่ามันเป็นแค่วัฏจักรของเศรษฐกิจ ซึ่งไม่อธิบายอะไรเลย หรือมีการเสนอว่ามันเป็นปัญหา “จิตวิทยา” ของคน คือมี “ความขี้เกียจ” ที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตหรือคิดค้นเทคโนโลจีใหม่ หรือมีการเสนอว่าอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป มีการรัดเข็มขัดมากเกินไป และคนในวัยทำงานน้อยไป ซึ่งทำให้นักลงทุนหดหู่ “หมดแรงบันดาลใจ” ในการลงทุน และทำให้กลุ่มทุนกักเงินไว้เฉยๆ แต่ตัวเลขทางทางเศรษฐกิจไม่ค่อยจะสนับสนุนข้อเสนอเหล่านี้เลย และดูเหมือนเป็นการคาดเดากันมากกว่า
สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง ไมเคิล โรเบิรตส์ ปัญหาแท้จริงที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำในระบบทุนนิยม คือปัญหาอัตรากำไร เพราะนายทุนทุกคนจะประเมินความคุ้มของการลงทุนที่อัตรากำไรเสมอ อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลงผ่านการแข่งกันลงทุนในเครื่องจักรมากกว่าการลงทุนในการจ้างงาน และมันนำไปสู่การชะลอในการลงทุน หรือแสวงหาแหล่งลงทุนนอกภาคการผลิต เช่นในภาคอสังหาริมทรัพย์หรือการปั่นหุ้นเป็นต้น ซึ่งสภาพแบบนี้ทำให้เกิดฟองสบู่ในราคาหุ้น ราคาที่ดิน หรือราคาบ้าน
147roberts11
การลดลงของอัตรากำไรโลก1870-2010
การฟื้นตัวของอัตรากำไรเกิดขึ้นได้หลังจากนั้นถ้ามีการทำลายทุน หรือมีการทำลายเครื่องจักรในวิกฤต หรือผ่านการทำสงคราม หรืออาจฟื้นตัวถ้ามีการขูดรีดแรงงานหนักขึ้น แต่มันเป็นเรื่องชั่วคราวและความสำเร็จเฉพาะหน้าขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ที่จะทำลายทุนที่เป็นส่วนเกิน หรือที่ความเป็นไปได้ที่จะขูดรีดแรงงานหนักขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันพิสูจน์ว่าระบบทุนนิยมและกลไกตลาดเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ สิ้นเปลือง และไม่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ส่วนใหญ่
ไมเคิล โรเบิรตส์ อธิบายว่าอัตรากำไรในประเทศพัฒนาชั้นนำ 20 ประเทศ (G20) ค่อยๆ เริ่มลดลงตั้งแต่ปีค.ศ. 1974 จน ถึง 2010 จนอัตรากำไรในช่วงนี้ลดลงจากเดิมถึง 40% (ดูกราฟ) และมีการเพิ่มสภาพฟองสบู่ ลดการลงทุน กู้เงินและเพิ่มหนี้ จนเกิดวิกฤตร้ายแรงในปี 2008 และหลังจากนั้นมีการโอนหนี้บริษัทและธนาคารเอกชนไปเป็นหนี้ของภาครัฐ ซึ่งนำไปสู่การใช้นโยบายรัดเข็มขัดและทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชนธรรมดาจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุน
วิกฤตเศรษฐกิจระยะยาวคราวที่แล้ว ในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐต่างๆ เพื่อทำสงครามบวกกับความเสียหายในสงคราม ในที่สุดก็กู้สภาพเศรษฐกิจทุนนิยมโลกกลับคืนมาได้ แล้วในปัจจุบันจะเกิดอะไรขึ้น?
[1] บล็อกของ ไมเคิล โรเบิรตส์ ดูได้ที่นี่ https://thenextrecession.wordpress.com/
อ่านเพิ่ม
http://isj.org.uk/the-global-crawl-continues/
และควรอ่านบทความของผมเรื่องฟองสบู่แตกในจีนในบล็อกนี้ด้วย