ภาพประกอบ - ผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียเดินทางถึงเยอรมนี

วิกฤตผู้อพยพ – ทำไมชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เซียไม่รับผู้อพยพชาวซีเรียเข้าประเทศ
วิกฤตผู้อพยพชาวซีเรียในขณะนี้ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ และต่างวิจารณ์ชาติอาหรับที่อยู่ในคณะมนตรีความร่วมมือชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เซีย (จีซีซี) ซึ่งประกอบไปด้วย ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน คูเวต กาตาร์ โอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ยังคงปิดประตูบ้านไว้แน่น
ไมเคิล สตีเฟนส์ นักวิจัยที่ศูนย์ตะวันออกกลางศึกษาและผู้อำนวยการราชสถาบันสหบริการ (อาร์ยูเอสไอ) ที่เป็นสถาบันวิจัยด้านกลาโหมและความมั่นคง ในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ชี้ว่า แม้มีเสียงวิจารณ์หนาหู แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียยังคงไม่แสดงท่าทีอะไรออกมา อย่างไรก็ตาม มีองค์กรจิตอาสาและประชาชนในภูมิภาคบริจาคเงินจำนวนมาก เพื่อสบทบช่วยเหลือผู้อพยพ พนักงานบางคนในอุตสาหกรรมน้ำมันในกาตาร์ยินดีบริจาคเงินเดือนบางส่วนทุกเดือนให้กับผู้อพยพชาวซีเรีย จนถึงขณะนี้ มีเงินบริจาคจากหน่วยงานจิตอาสาในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย ให้กับผู้อพยพชาวซีเรียราว 33,000 ล้านบาทแล้ว แต่ในขณะที่สงครามในซีเรียยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง งบประมาณสำหรับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายก็ร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ
สตีเฟนส์ชี้ว่า ประชาคมโลกจะต้องช่วยกันหาทางอื่น เพื่อคลี่คลายปัญหาการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ เพราะคนซีเรียที่ล้ากับสงครามและสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นในค่ายผู้ลี้ภัย ต่างพากันหลั่งไหลออกจากพื้นที่เขตสงคราม เพื่อไปหาโอกาสใหม่ที่ดีกว่าสำหรับชีวิต หรือสรุปสั้น ๆ คือการจัดสรรอาหารและที่พักสำหรับผู้ที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเป็นทางออกสำหรับปัญหาในอดีต ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนในตอนนี้คือหาที่พักพิงให้ผู้อพยพหลายแสนคน และนี่เป็นเรื่องที่ชาติในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย ตอบไม่ถูกว่าควรจะทำอย่างไร
แม้ว่าชาติในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียบางชาติ จะอนุญาตให้ชาวซีเรียบางคนเข้าประเทศได้ เช่น นับตั้งแต่เมื่อปี 2554 ซาอุดีอาระเบียอนุญาตให้ชาวซีเรียเข้าประเทศไปแล้ว 500,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพ ขณะที่ประเทศอื่นไม่มีนโยบายที่จะรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากโดยไม่มีงานรองรับ สตีเฟนส์อธิบายว่า ทั้งนี้เป็นเพราะว่าชาติในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย เป็นห่วงเรื่องความไม่มั่นคงทางการเมือง และที่สำคัญคือเรื่องอัตลักษณ์ของพลเมือง
สงครามในซีเรียซึ่งปะทุขึ้นเมื่อปี 2555 นั้น เห็นได้ชัดว่า กลายเป็นเรื่องของการแข่งขันชิงผลประโยชน์ระหว่างชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เซียที่นับถือนิกายซุนหนี่ กับชาติที่เป็นพันธมิตรอิหร่าน โดยอิหร่านกับซีเรียนั้นเป็นพันธมิตรกันด้านยุทธศาสตร์ ดังนั้น ชาติในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียจึงเริ่มเกรงว่า คนซีเรียที่ภักดีกับประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดจะแทรกซึมเข้าไปในประเทศของตน เพื่อแก้แค้น ชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เซียกำลังเริ่มตรวจสอบประวัติผู้เดินทางชาวอิหร่านอย่างเร่งด่วน และทำให้ยากมากขึ้นที่คนซีเรียจะได้รับใบอนุญาตให้ทำงานหรือต่อวีซ่าทำงาน จนถึงขณะนี้ นโยบายดังกล่าวก็ยังไม่เปลี่ยน โดยที่กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นห่วงมากว่า ฝ่ายที่หนุนประธานาธิบดี อัล-อัสซาดอาจจะเริ่มลงมือตอบโต้เมื่อไรก็ได้ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ยังคงมีข่าวลือแพร่สะพัดในกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียว่า มีการจับกุมเครือข่ายผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย แต่เป็นการจับกุมแบบเงียบๆ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างเป็นทางการหรือมีข่าวทางการว่า ผู้ที่ถูกจับกุมเป็นผู้สนับสนุนนาย อัล-อัสซาด
นอกจากนั้น การหลั่งไหลของผู้อพยพชาวซีเรียอาจมองได้ว่า เป็นภัยคุกคามต่อสัดส่วนความสมดุลด้านประชากร ที่ชาติในภูมิภาคนี้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น พลเมืองแท้ ๆ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์ มีสัดส่วนเกิน 10% มาเพียงเล็กน้อยจากจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ เพราะประชากรส่วนใหญ่ในประเทศดังกล่าวเป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้รับสิทธิ์ให้พำนักและทำงานได้ คนต่างชาติจะได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศได้ หากตนเองหรือสามีภรรยามีงานเต็มเวลาทำ ไม่มีทางที่จะตั้งรกรากแบบถาวรอยู่ในประเทศอาหรับในอ่าวเปอร์เซียได้ หากไม่มีงานเป็นหลักแหล่ง และเมื่อสัญญาจ้างงานสิ้นสุดลง พวกเขาก็ต้องเดินทางกลับบ้านเกิด นี่คือกลไกด้านการจ้างงานและสัดส่วนประชากรของชาติในแถบนี้ นอกจากนั้น การย้ายถิ่นของแรงงานทั้งที่มีทักษะสูงและต่ำ เกิดขึ้นบ่อยและมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเอื้อให้ประชากรชาวอาหรับที่เป็นเจ้าของประเทศอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า โดยไม่จำเป็นต้องมีชาวอาหรับหรือแรงงานจากชาติอื่นในเอเชียใต้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสมดุลดังกล่าว
ดังนั้นแนวคิดที่จะให้มีคนต่างชาติหลายพันเข้าไปเพิ่มขึ้นในประเทศ โดยไม่มีงานทำหรือไม่รู้กำหนดแน่ชัดว่าจะออกจากประเทศเมื่อไร จึงเป็นเรื่องที่ไม่เข้ากับการดำเนินนโยบายของชาติในอ่าวอาหรับ
สตีเฟนส์ชี้ว่า ไม่เคยเกิดมีเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน (แม้แต่ช่วงการอพยพครั้งใหญ่ของชาวปาเลสไตน์ เมื่อปี 2491) ที่พอจะเทียบเคียงให้เห็นได้ถึงระดับภัยคุกคามของผู้อพยพชาวซีเรียต่ออัตลักษณ์ของชาติในภูมิภาคอ่าวอาหรับและองค์ประกอบด้านสังคม ซึ่งขณะนี้ชาติในอ่าวอาหรับก็ยังไม่มีคำตอบให้กับวิกฤตผู้ลี้ภัยซีเรีย
เป็นเรื่องยาก ที่ความหวาดกลัวที่ฝังลึกต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านประชากรและความเกรงภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ด้านพลเมือง จะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะมาจากแรงกดดันหรือกระบวนการทางการทูตจากชาติตะวันตกก็ตาม ในภาคประชาชนแล้ว ไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นกดดันบรรดาผู้ปกครองในอ่าวอาหรับเพื่อให้เปลี่ยนนโยบาย ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาชนชั้นผู้ปกครองต่างรู้สึกว่า ความยุ่งเหยิงที่เป็นอยู่ในตอนนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากชาติตะวันตกจัดการกับปธน. อัสซาดและรัฐบาลของเขาเร็วกว่านี้ ข้อเรียกร้องจากนักการทูตชาติตะวันตกต่อผู้ปกครองชาติอ่าวอาหรับก็คงจะไม่ได้รับการเหลียวแล


 
Top