โรคติดโทรศัพท์มือถือกำลังระบาดในเอเชีย
“โนโมโฟเบีย” (Nomophobia) หรือความรู้สึกหวาดหวั่นว่าจะไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ ซึ่งเป็นอาการเริ่มแรกของโรคกลัวและวิตกกังวลสุดขีดเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ นับเป็นเรื่องที่พูดกันมาหลายปีแล้ว แต่เฮเธอร์ เชน ผู้สื่อข่าวบีบีซีในสิงคโปร์มีรายงานว่า นักจิตวิทยาได้ออกมาชี้ว่าโรคติดมือถือ เป็นโรคที่คนในเอเชียเป็นกันมาก และผู้เป็นโรคนี้ก็มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการสำรวจกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเกือบ 1,000 คน ในเกาหลีใต้ และพบว่า 72% มีโทรศัพท์มือถือใช้ตั้งแต่อายุ 11 หรือ 12 ปี และใช้เวลาเฉลี่ย 5.4 ชั่วโมงต่อวันอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ผลการศึกษาซึ่งมีกำหนดจะตีพิมพ์ในปีหน้า นี้ชี้ว่า เด็กเกาหลีใต้ 25% เข้าข่ายเป็นโรคติดโทรศัพท์มือถือ และยังพบด้วยว่าความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่บ่งบอกว่า คุณจะเป็นโรคติดโทรศัพท์มือถือหรือไม่
โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญในสังคมหลายแห่ง แต่ในเอเชียโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ต้องถ่ายรูปอาหารหรือของกิน ก่อนลงมือกิน ส่วนในญี่ปุ่น การใช้โทรศัพท์มือถือมีศัพท์เรียกเฉพาะว่าเป็น “วัฒนธรรมเคไต”
ในเอเชียซึ่งมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือราว 2,500 ล้านคน มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุจากความซุ่มซ่ามขณะใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยมาก และได้กลายเป็นข่าวแพร่ออกสู่สังคมอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีนักท่องเที่ยวไต้หวันที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปช่วย หลังจากที่เธอพลัดตกจากท่าเรือ ขณะกำลังอ่านหน้าเฟซบุ๊กจากโทรศัพท์มือถือ หรือผู้หญิงอีกคนในมณฑลเสฉวนของจีนที่พนักงานดับเพลิงต้องเข้าไปช่วยเหลือ หลังจากที่เธอตกลงไปในท่อขณะกำลังใช้โทรศัพท์มือถือ ข่าวทำนองนี้หากขึ้นเป็นข่าวพาดหัว ก็อาจเป็นข่าวพาดหัวที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกขันได้ แต่ในสิงคโปร์นั้นน่าเป็นห่วงว่าผู้ที่เจออุบัติเหตุมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก มีประชากรเพียง 6 ล้านคน แต่มียอดผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ทั้งยังมีคลินิกและผู้ชำนาญการบำบัดอาการเสพติดเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนได้มีการรณรงค์ให้มีการยอมรับอย่างเป็นเรื่องเป็นราวว่า โรคติดมือถือเป็นการเสพติดประเภทหนึ่ง
ชอง อี-เจย์ ผู้จัดการ ทัช ไซเบอร์ เวลเนสส์ เซ็นเตอร์ ที่เป็นคลินิกบำบัดโรคเสพติดเทคโนโลยีในสิงคโปร์ ชี้ว่าเด็ก ๆ ยังโตไม่พอที่จะสามารถจัดการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือของตนเองได้ และในสิงคโปร์ เด็ก ๆ มีโทรศัพท์มือถือกันตั้งแต่อายุน้อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการเรียนการสอน ครูในโรงเรียนบางแห่งสั่งการบ้านผ่านแอพพลิเคชั่น WhatsApp
ในเกาหลีเหนือ นักศึกษาวัย 19 คนหนึ่ง ต้องเข้ารับการบำบัดอาการจากโรคติดมือถือตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา เอ็มมา หยุ่น (นามสมมุติ) เล่าว่าโทรศัพท์มือถือคือโลกของเธอ “หัวใจของฉันจะเต้นเร็วผิดปกติและมีเหงื่อออกตามฝ่ามือ หากโทรศัพท์มือถือหายไป ฉันไปไหนก็ต้องมีมือถือไปด้วยเสมอ”พ่อแม่ของหยุ่นเผยว่า โรคติดโทรศัพท์มือถือมาพร้อมกับปัญหาด้านพฤติกรรมเรื่องอื่น ซึ่งรวมถึง การชอบโชว์ และไม่สนใจกิจกรรมของทางโรงเรียน
คนส่วนใหญ่จะรู้สึกกังวลบ้าง หากไม่มีโทรศัพท์มือถือติดตัว แต่ผู้สื่อข่าวบอกว่า คนที่เป็นโรคติดมือถือนั้นต่างออกไปจาก โดยโทรศัพท์มือถือส่งผลให้มีปัญหาอื่นตามมา รวมทั้งอาการวิตกจริต การศึกษาในเกาหลีใต้ยังพบด้วยว่า คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสารทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ มีแนวโน้มจะติดโทรศัพท์มือถือมากกว่าคนที่ไม่ได้ใช้เพื่อสื่อสังคมออนไลน์
สมัยนี้ โทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสาร เด็ก ๆ และคนรุ่นหนุ่มสาวบางคนที่มีพื้นฐานที่เปราะบางกว่าคนอื่น อาจรู้สึกเคว้งคว้างและเข้ากับคนอื่นไม่ได้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถือ ในบางประเทศในเอเชีย ที่เด็ก ๆ ต้องเรียนหนักและทำการบ้านเต็มมือตามลำพัง โทรศัพท์มือถือเป็นเพียงช่องทางเดียวในการติดต่อสื่อสารและสนุกเฮฮากับเพื่อนได้ ดังนั้นโทรศัพท์มือถือจึงอาจมีบทบาทและความสำคัญมากเกินไป
หลายประเทศได้เริ่มบังคับใช้ข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือ ที่เกาหลีใต้ โครงการแอปพลิเคชันของรัฐบาลที่เฝ้าสังเกตการใช้โทรศัพท์มือถือของกลุ่มวัยรุ่น ก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน โดยรัฐบาลได้นำมาตรการหลายอย่างมาใช้ตั้งแต่เมื่อปี 2554 รวมถึงห้ามเด็ก ๆ เล่นเกมออนไลน์หลังเที่ยงคืน
จีนเป็นประเทศแรก ๆ ที่บัญญัติว่าการติดอินเทอร์เน็ตเป็นโรคทางคลินิก ทั้งได้เปิดคลินิกแบบทหาร เพื่อบำบัดโรคเสพติดสื่อออนไลน์ใหม่ ๆ จิตแพทย์ที่ปรึกษาโทมัส ลี บอกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียควรตามแบบอย่างของจีน และจัดให้โรคติดโทรศัพท์มือถือเป็นโรคทางจิตเวชโรคหนึ่งอย่างเป็นทางการ ทำนองเดียวกับโรคติดเซ็กส์หรือติดการพนัน “การใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น ก็คล้าย ๆ กับการใช้ยาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนเรา มันไม่ต่างไปจากผู้ติดยาเสพติดที่เกิดอาการลงแดงตอนพยายามเลิกยา ผู้ที่ติดโทรศัพท์มือถือก็มีอาการลงแดงเหมือนกัน เช่น กระสับกระส่าย นั่งไม่ติด วิตกจริต แม้กระทั่งโกรธโมโห ” จิตแพทย์ลีกล่าว
ศ. มาร์ลีน ลี นักจิตวิทยาคลินิกในสิงคโปร์ชี้ว่า โรคติดเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องใหม่ “งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ดังนั้นจึงยังมีหลายเรื่องที่เรายังหาคำตอบไม่ได้ โรคติดโทรศัพท์มือถือมีกลไกของอาการแบบเดียวกับโรคเสพติดอื่น ๆ เพียงแต่ว่าเป็นการเสพติดอีกรูปแบบหนึ่ง”
ด้านจิตแพทย์เอเดรียน หวัง บอกว่าเขายังไม่ต้องการวินิจฉัยให้โรคติดโทรศัพท์มือถือเป็นโรคทางคลินิก เพราะไม่ต้องการตีตราปัญหาทางสังคมให้กลายมาเป็นโรคที่ต้องบำบัดด้วยวิธีทางการแพทย์ เพราะว่าโรคติดโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมที่ใหญ่กว่า เช่น ปัญหาครอบครัว และการนับถือรู้คุณค่าตัวเอง
ผู้สื่อข่าวสรุปในตอนท้ายว่า เชื่อว่าคนในทวีปเอเชียจะคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือขึ้นมาอีก นอกเหนือไปจากไม้ถ่ายเซลฟีและสัญลักษณ์อีโมจิ ขณะที่นักจิตวิทยาก็ได้แต่หวังว่าสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ จะเป็นไปในทางบวกและสร้างสรรค์ ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดอาการวิตกจริตอย่างเดียว
คุณเป็นโรคติดโทรศัพท์มือถือหรือไม่? ผู้เชี่ยวชาญแนะให้ลองสังเกตอาการระยะแรกดังต่อไปนี้
- กดมือถือเช็คโน่นเช็คนี่โดยไม่มีเหตุผล
- รู้สึกกระวนกระวาย นั่งไม่ติด เพียงแค่คิดว่าไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้
- เลี่ยงการไปสังสรรค์กับผู้อื่น เพียงเพื่อจะได้ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือ
- ตื่นขึ้นมาตอนดึก ๆ และมากดโทรศัพท์มือถือดู
- ผลการเรียนหรือการทำงานแย่ลง เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับโทรศัพท์มือถือ
- วอกแวกได้ง่าย ๆ เพียงแค่เห็นอีเมล์หรือข้อความจากแอปพลิเคชัน
ภาพประกอบ - ภาพ 1 ที่คลินิกบำบัดโรคติดโทรศัพท์มือถือในเกาหลีใต้ ภาพ 2-4 การใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศต่าง ๆ




 
Top