สภาปฏิรูปไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ก้าวต่อไปรอนายกรัฐมนตรีตั้งกรรมการยกร่างใหม่ทำงานภายใน 180 วัน “บุญเลิศ คชายุทธเดช” ชี้มติสปช.สะท้อนความเป็นห่วง รธน.สร้างความแตกแยกมากขึ้น หนุนให้รับฟังเสียงทุกฝ่ายในกระบวนการยกร่างใหม่ ด้านนักการเมืองต่างแสดงอาการโล่งใจ
ผลการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเช้าวันนี้ 6 ก.ย.ในการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ผลแล้ว สมาชิก สปช.ออกเสียงไม่เห็นด้วย 135 เสียง เห็นด้วย 105 เสียง และงดออกเสียงอีก 7 เสียง สรุปว่า สปช.ไม่รับร่างรธน.ฉบับนี้ ทำให้กระบวนการในเรื่องรธน.ต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ด้วยการรอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างชุดใหม่ขึ้นมาทำงานภายในสามสิบวัน นอกจากนั้น ยังต้องตั้งกลไกขึ้นมาแทนสปช.ซึ่งยุติการทำหน้าที่แล้วในวันนี้หลังจากที่ได้ลงมติไม่รับร่าง รธน. โดยกลไกที่จะตั้งใหม่คือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปที่จะมีสมาชิกจำนวน 200 คนทั้งนี้เพื่อให้สานต่อประเด็นต่างๆในเรื่องของการปฏิรูปต่อไป
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสปช.ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการทำงานไปให้สัมภาษณ์โทรทัศน์รัฐสภาระบุว่า การจัดตั้งกลไกใหม่ทั้งสองกลไก เป็นไปเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญของประเทศในการปฏิรูปที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ ฟื้นฟูประเทศได้และไม่เกิดความขัดแย้ง ทั้งสองกลไกจะเข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศร่วมกับสามกลไกที่มีอยู่แล้วคือ คสช. ครม. และ สนช. พร้อมกับขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากลไกทั้งหมดจะร่วมกันทำงานเพื่อเดินหน้าประเทศไทย
นายสุรชัยชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สรุปได้คือต้องให้ได้รธน.ที่ทุกฝ่ายยอมรับ โดยนำเอาร่าง รธน.ที่ยกร่างไว้แล้วนี้ไปปรับปรุงในสิ่งที่ทำไปแล้วพร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่า ผลของการลงมตินี้คงไม่กระทบกระเทือนการเมืองเพราะเป็นการก้าวตามกลไกที่กำหนดไว้แล้ว ต่อไปต้องฝากความหวังกับทั้งสององค์กร การที่เวลาในการทำงานเลื่อนออกไปอีก 180 วันคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกกรรมการยกร่างระบุว่า ทางคณะกรรมการได้ทำงานอย่างดีที่สุดแล้วต่อจากนี้ไปกระบวนการอยู่ที่คสช.ที่จะแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นมายกร่าง นายคำนูณให้สัมภาษณ์สื่อด้วยว่า หากได้รับการเสนอชื่อเขาจะไม่รับเป็นกรรมการยกร่างอีก ก่อนหน้านั้นเขากล่าวในทวิตเตอร์ว่า กรรมการยกร่างพยายามจะเดินทางสายกลางระหว่างกลุ่มที่ต้องการประชาธิปไตยเต็มที่กับทางซีกที่สนับสนุนเผด็จการทหาร
ด้านนายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช.ชี้ว่า สิ่งที่ต้องสรุปบทเรียนจากร่าง รธน.ฉบับนี้คือ มีผู้โต้แย้งมากในหลายจุด โดยเฉพาะในเรื่องการให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองหรือคปป.ที่จะมีอายุห้าปี และกรรมาธิการยกร่างไม่สามารถทำให้ปชช.วางใจได้ว่าในระยะเปลี่ยนผ่านประเทศนี้ คปป.จะแสดงบทบาทเสริมการทำงานของรัฐบาลได้อย่างไร อีกประการหนึ่ง การให้อำนาจ คปป.มากไปจะยิ่งทำให้ขัดแย้งกันมากขึ้นหรือไม่ ประเด็นนี้สมาชิกสปช.หลายคนมีความห่วงใย ขณะที่อีกด้านเห็นได้ชัดว่าทางฝ่ายนักการเมืองและพรรคการเมืองสองกลุ่มใหญ่ต่างก็เห็นตรงกันว่า ถ้าออกแบบ รธน.เช่นนี้พวกเขารับไม่ได้ จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงว่าหากปล่อยผ่านไปเกรงว่าความขัดแย้งจะบานปลาย
นายบุญเลิศชี้ว่า การยกร่างรธน.ของกรรมการยกร่างชุดใหม่ ควรจะนำร่าง รธน.นี้ไปศึกษาข้อดีข้อเสีย แล้วเลือกในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันได้ ที่สำคัญเห็นว่า กระบวนการในการยกร่างต้องปรับเปลี่ยน เปิดให้ประชาชนตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนในการเข้าร่วมแสดงความเห็น
“ให้ทุกฝ่ายรวมทั้งนักการเมืองได้มีส่วนร่วมอย่างสมศักดิ์ศรี ให้เกียรติกันและฟัง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ รับฟังในเรื่องสำคัญแล้วเอามาปรับใช้ ทำให้รู้สึกว่าประเทศไทยเป็นนาวาปฏิรูป เรารับฟังกันและเคารพกัน ยกร่าง รธน.ให้เป็นที่ยอมรับจะได้ไม่เกิดการออกเสียงแบบนี้ และร่างที่ตกไปนี้ ตกก็จริง แต่ไม่ควรทิ้งให้เสียของ ควรจะนำไปพิจารณาด้วย เช่นเดียวกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปก็ควรจะเอาการปฏิรูปที่ สปช.ทำไว้ไปต่อยอด” นายบุญเลิศกล่าว
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทยทวิตขอบคุณสมาชิก 135 คนของสปช.โดยบอกว่าการลงมตินี้เป็นการระงับความขัดแย้งพร้อมกับแสดงความหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนที่จะทำให้คนยกร่างชุดถัดไปไม่ผลิตความผิดพลาดซ้ำ และบอกว่าในการเลือกตัวกรรมการยกร่างใหม่อยากเห็นการเลือกคนที่มีหลักการและเคารพหลักประชาธิปไตย ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทวิตเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุง รธน.เพื่อให้นำไปสู่การปฏิรูป เก็บสิ่งที่ดีไว้และแก้ไขจุดที่เป็นจุดอ่อน