ชาวเมียนมาร์เชื้อสายทมิฬผู้ไม่มีโอกาสหวนคืนสู่บ้านเกิด
ทุกๆวัน นายโมฮัมหมัด ยูซูฟ ซาร์ลัน ชาวเมียนมาร์เชื้อสายทมิฬ ได้แต่เหม่อมองไปยังฝั่งของเมียนมาร์ประเทศบ้านเกิดของตน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโมเรห์ ในรัฐมณีปุระของอินเดียที่เขาอาศัยในปัจจุบันเพียงไม่กี่ร้อยเมตร เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในชาวทมิฬในเมียนมาร์ที่ถูกเนรเทศ ภายหลังการรัฐประหารของนายพลเนวินเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1960 และไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปอีกเลยนับแต่นั้นเป็นต้นมา
นายซาร์ลัน ซึ่งปัจจุบันอายุ 74 ปี เล่าว่า เคยอาศัยอยู่ในนครย่างกุ้ง แต่ภายหลังการรัฐประหารดังกล่าวธุรกิจของเขาถูกยึดเข้าเป็นของรัฐ ส่งผลให้ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนและต้องลี้ภัยไปอยู่อินเดีย คาดว่าในคราวนั้นมีชาวอินเดียราว 300,000 คนต้องหลบหนีออกจากเมียนมาร์ แม้ต่อมานายซาร์ลัน จะถูกส่งตัวไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งเป็นดินแดนของบรรพบุรุษชาวทมิฬทางภาคใต้ของอินเดีย แต่การไม่ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนใดๆก็ทำให้การดำเนินชีวิตที่นั่นเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่งผลให้พวกเขาตัดสินใจเดินทางกลับเมียนมาร์ แต่สุดท้ายก็ต้องปักหลักอยู่ที่เมืองโมเรห์ซึ่งใกล้กับแนวพรมแดน เพื่อรอวันที่จะได้รับอนุญาตให้กลับเข้าเมียนมาร์ได้อีกครั้ง
อันที่จริงชาวอินเดียอาศัยอยู่ในเมียนมาร์มานานหลายร้อยปีแล้ว แต่การอพยพครั้งใหญ่เกิดขึ้นในยุคที่อังกฤษเข้าไปปกครองเมียนมาร์ ช่วงศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยชาวอินเดียเหล่านี้เข้าไปทำงานเป็นข้าราชการ, พ่อค้า, เกษตรกร, ผู้ใช้แรงงาน และช่างฝีมือ
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 มีชาวทมิฬในเมืองโมเรห์ราว 15,000 คน แต่ปัญหาเหตุรุนแรงจากกลุ่มกบฎ และการค้าที่ซบเซาจากการที่ทางการเมียนมาร์เปิดตลาดแห่งใหม่ จนทำให้กลุ่มลูกค้าชาวเมียนมาร์ที่มักข้ามฝั่งเข้ามาซื้อของในเมืองโมเรห์ลดลงนั้น ทำให้ชาวทมิฬ ย้ายไปอยู่ที่เมืองอื่น อาทิ เจนไน จนปัจจุบันมีประชากรชาวทมิฬในเมืองโมเรห์เหลืออยู่เพียง 3,500 คน นอกจากนี้โอกาสด้านการศึกษาที่จำกัดก็ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากย้ายไปเรียนหนังสือที่อื่น
อย่างไรก็ตาม พ่อค้าบางคนหวังว่าเมืองโมเรห์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากการก่อสร้างทางหลวงที่เชื่อมต่อรัฐมณีปุระ, นครย่างกุ้ง และกรุงเทพฯแล้วเสร็จ





 
Top