เวียดนามกับความพร้อมในการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กมองผลการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนายเหวียน ฟู จ่อง ยังคงนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคอีกสมัย ขณะที่นายเหวียน ชวน ฟุ๊ก รองนายกรัฐมนตรี ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่แทนนายเหวียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรี ที่จะพ้นวาระในเดือนกรกฎาคมว่า ทำให้เกิดคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ จะส่งผลต่อการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ รวมทั้งภาคการเงินการธนาคารให้ล่าช้าออกไปหรือไม่
บลูมเบิร์กรายงานว่ารัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของเวียดนามได้ระบุในพิธีปิดการประชุมประจำปี พรรคคอมมิวนิสต์ว่าเวียดนามจะปรับปรุงและพัฒนาภาคการเงินการธนาคารให้ทันสมัย
อย่างไรก็ดี รศ. เตือง หวู นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยโอเรกอน บอกกับสำนักข่าว บลูมเบิร์กว่าสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามต้องการคือความมั่นคงของพรรค ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้ เอื้อต่อการปฏิรูป หรือทำให้การปฏิรูปเร็วขึ้น สิ่งที่ผู้นำชุดใหม่จะทำคือขอให้ประชาชน ยังคงวางใจในพรรคคอมมิวนิสต์ แต่พรรคอาจจะหลีกเลี่ยงแนวคิดริเริ่มใหม่ ๆ และชะลอการ ปฏิรูปที่จำเป็นตามเงื่อนไขของข้อตกลงทางการค้าหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก อย่างเช่น การอนุญาตให้มีสหภาพแรงงานที่เป็นอิสระ เป็นต้น
บลูมเบิร์กรายงานด้วยว่า คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตราว 6.7 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศ และการลงทุนโดยตรงจากต่าง ประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นช่วยให้เวียดนามรับมือกับภาวะปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อตลาดหุ้น และค่าเงิน ขณะที่ปัญหาในภาพรวมทางเศรษฐกิจของเวียดนามคือการขาดดุลการค้า หนี้ภาครัฐ ที่ขยายตัวและความล้มเหลวของรัฐบาลในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจำนวน 289 แห่งตามที่ตั้งเป้า ไว้ในปีที่แล้ว
บลูมเบิร์กรายงานอีกว่าในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ผู้นำหลายคน แสดงความเป็นห่วงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเป้าในช่วงปี 2554 ถึง 2558 ซึ่งนั่นอาจทำให้เวียดนามก้าวไม่ทันประเทศ นอกจากนี้ที่ประชุม ยังได้เห็นชอบแผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะเวลาห้าปีที่กำหนดให้มีการสนับสนุนภาคเอกชน ให้มีช่องทางที่เท่าเทียมในการเข้าถึงสินเชื่อ ที่ดินและปัจจัยอื่นๆ
ทั้งนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ย สูงถึง 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปีและผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาติต่อประชากรในอัตรา 3,200 - 3,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2563 จากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ประเมินไว้ที่ 2,170 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน ซึ่งหากทำได้เช่นนั้น เวียดนามก็จะถือเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
รัฐบาลเวียดนามประเมินว่าเวียดนามจะขาดดุลการค้า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมกราคมนี้ หลังจากเมื่อปีที่แล้วขาดดุลโดยรวม 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ ตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมา
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น