0


คำถามใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ในปี 2560 จะมี “การเลือกตั้ง” เกิดขึ้นหรือไม่ จะเป็นตามปฏิทินเดิมคือ ประมาณกลางปี หรือจะต้องเลื่อนออกไปปลายปี หรือจะนานกว่านั้น?
จุดเริ่มของคำถามนี้มาจาก “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เรื่องการทำประชามติเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ โดยนายมีชัยบอกทำนองว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไข เพราะจะทำให้ประชาชนไม่สนใจดูเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะไปดูที่เงื่อนไขมากกว่า  ซึ่งมีบางคนไปตีความว่า หมายถึงจะเอารัฐธรรมนูญชั่วคราวมาใช้เป็นการถาวร หมายถึงจะไม่มีการเลือกตั้งในปี 2560 ตาม “โรดแม็พ” ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยกำหนดไว้หรือไม่
ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. ต้องออกมายืนยันว่า จะให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 โดยระบุด้วยว่า เป็นเดือนกรกฎาคม 2560 ยกเว้นถ้าให้ไปเลือกตั้งแล้วยังทะเลาะกันไม่ไปเลือกตั้งก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้
อย่างไรก็ตาม คล้อยหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ออกมาการันตีว่าจะให้มีการเลือกตั้งในเดือนก. ค.2560 ก็มีข่าวออกมาว่า การเลือกตั้งอาจขยับไปเป็นปลายปี 2560 เพราะใน “บทเฉพาะกาล” ได้เขียนกำหนดระยะเวลาในการออกกฎหมายลูก หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องออกให้เสร็จก่อนเลือกตั้งว่า ให้ใช้เวลาไม่เกิน 8 เดือน และให้ไปเลือกตั้งภายใน 5 เดือน หลังทำกฎหมายลูกเสร็จ ขณะที่กรธ.เองก็ออกมายอมรับว่า ข้อกำหนดในบทเฉพาะกาลจะทำให้การเลือกตั้งลากยาวไปเป็นปลายปี!!
ตัดกลับไปที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” ที่วันนี้แม้จะยังไม่ปรากฏรายละเอียดเป็นรายมาตราทั้งฉบับต่อสายตาสาธารณะ แต่จากเนื้อหารายประเด็นที่ “กรธ.” เผยแพร่หลังการพิจารณาร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตรา ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบหลายประเด็นที่เป็นมาตรการใหม่ โดยเฉพาะการขจัดปัญหาการ “ทุจริตคอร์รัปชั่น” ของผู้ใช้อำนาจ และนักการเมืองขั้นสูงสุด “สะท้อน” อยู่ในร่างมาตราว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง
สำหรับ ลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. นั้น ถูกเขียนไว้ทั้งสิ้น 18 กรณี และเพิ่มประเด็นที่เข้มงวดมากขึ้น เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สรุปสาระสำคัญได้ว่า ผู้ที่ต้องโทษ ถูกคำพิพากษา ฐานกระทำทุจริตต่อการเลือกตั้ง ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ เคยทำทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์ ฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดฐานะผู้ส่งออก นำเข้า และขยายรวมถึงการกระทำผิดฐานฟอกเงิน หรือค้ามนุษย์ด้วย
นอกจากนี้ยังวางหลักการให้ ครม.ทั้งคณะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งการทำนโยบายและการดำเนินงานตามนโยบาย เพื่อไม่ให้ใครใช้ข้ออ้างว่าไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงาน ปัดความรับผิดแห่งนโยบายที่สร้างผลกระทบหรือความเสียหายแก่ประเทศและสังคม
ขณะเดียวกันก็ปรับบทบาท “องค์กรอิสระ” ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลให้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น คือ องค์กรอิสระที่มีอำนาจตามบทบาทสามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุมพิจารณาได้ โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้องเรียน ขณะเดียวกันยังเพิ่มมาตรการสอดส่อง และกำกับงานของรัฐบาล ให้แก่ 3 องค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง-ดูนโยบายของพรรคการเมือง, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ฐานะหน่วยงานที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฐานะผู้ตรวจสอบการทุจริตทุกระดับ ร่วมหารือเพื่อวิเคราะห์และมองรอบด้านถึงการกระทำ หรือนโยบายของรัฐบาลที่ส่อว่าจะสร้างความเสียหาย หากพบความสุ่มเสี่ยงหรือส่อว่าจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศระยะยาว สามารถส่งคำตักเตือนไปยังรัฐบาลให้ทราบ โดยไม่มีผลในทางบังคับให้ทำตาม
แค่ 3 ประเด็นหลักเหล่านี้ก็ได้รับเสียงคัดค้านจากพรรคการเมืองแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควร “ถูกคว่ำ” เนื่องเพราะ “เนื้อหา” ในรัฐธรรมนูญมุ่งหวังให้ “ชนชั้นนำ” เป็นผู้ “กำหนดทิศทาง” ทั้งหมดของประเทศไทย โดยวางกลไกควบคุมการบริหารราชการในอนาคตให้ดำรงอยู่ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำหน้าที่เหมือนข้าราชการประจำ ทำตามกรอบที่กำหนดไว้อย่างเดียวแต่โครงการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนจะทำไม่ได้
อีกปมที่สำคัญ คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) สมัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถือว่าองค์กร คปป.มีอำนาจเหนืออธิปไตย แต่เมื่อหลายฝ่ายออกมาคัดค้านถึงขั้นต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไป ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย องค์กรนี้ก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่อำนาจขององค์กรนี้บางส่วนไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
หากประเทศไทยมี “วิกฤติประชาธิปไตย” หรือ “วิกฤติของประเทศ” ก็จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด และศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจถึงขั้น “ตีความรัฐธรรมนูญ” และ ยังมีอำนาจไปถึงขั้นเกือบอาจจะกำหนดบทบัญญัติใหม่ตามการตีความของศาล รัฐธรรมนูญ การปล่อยให้มีอำนาจมากขนาดนี้จะกลายเป็นปัญหาตามมาได้
ขณะที่กลไกภาคประชาชนที่มีสถานะต่อรองอำนาจของรัฐบาล-ราชการได้ กำลังถูกบางมาตรการ “บอนไซ” การเติบโต สะท้อนให้เห็นจุดหมายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าพยายามฟื้น “รัฐราชการ”  และเมื่อเป็นเช่นนั้นจริง จะเป็นจุดที่ทำให้ประเทศวกกลับมาสู่ “วงจรอุบาทว์” ที่ลงท้ายด้วยการรัฐประหารได้อีกหากปล่อยให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไป อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ สุดท้ายเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้ผ่าน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นการก้าวไปสู่ “หายนะ”
สุดท้ายบ้านเมืองจะพัง!!

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top