0

สมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ร่างรธน. ฉบับใหม่จะทำให้การปฏิรูปสื่อของไทยถอยหลังไป 20 ปี

นางกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ของสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( The Southeast Asian Press Alliance -SEAPA)หรือ ซีป้า ระบุว่าหลังจากที่ซีป้าได้เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบันกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และ 2550 แล้ว พบว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้รัฐเข้าควบคุมกำกับสื่อและกำกับการแสดงความเห็นทั้งสื่อหลักและเสรีภาพสื่อออนไลน์ พร้อมกับชี้ว่า การใช้แนวคิดเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ไม่ได้มองว่าประชาชนเป็นเจ้าของจะดึงการปฏิรูปสื่อของไทยย้อนหลังไป 20 ปี

“อะไรที่ดีก็ควรเก็บไว้ ไม่ใช่มารื้อแล้วทำให้แย่ลง มีบางเรื่องที่ดีมากในรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2540 ซึ่งต้องยอมรับว่าปี 2540 เป็นช่วงที่เราเบ่งบานมากที่สุด มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างเต็มที่ ขณะที่ของปี 2550 แม้จะร่างขึ้นมาภายใต้คณะรัฐประหาร เขาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก บางอันดีกว่าเดิม เช่นการไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งดีขึ้น แต่ฉบับร่างใหม่ มีที่เพิ่มเข้ามาแล้วทำให้แย่ลงหลายประเด็น ถ้ายังคงสภาพในแบบเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข จะทำให้แนวทางปฏิรูปสื่อข้างหน้าถดถอยไปเกือบยี่สิบปี”

ทั้งนี้ นางกุลชาดากล่าวว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการปฏิรูปสื่อบนพื้นฐานแนวคิดเรื่องคลื่นความถี่เป็นของประชาชน ซึ่งอาจจะยังมีข้อจำกัด มีปัญหาถูกแทรกแซงจากรัฐบ้าง แต่ก็ยังเดินหน้าต่อมาเรื่อยๆ โดยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 หรือ 2550 นั้นระบุชัดว่าคลื่นความถี่เป็นของประชาชน ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องมีการปฏิรูปคลื่นความถี่ ให้ประชาชนมีสิทธิใช้ และให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุชัดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์ปกป้องคลื่นความถี่ที่เป็นการสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามากำกับดูแลการจัดสรรค์คลื่นความถี่ของคณะกรรมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. มากขึ้น

นางกุลชาดายังกล่าวต่อไปว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีนัยยะสำคัญในการเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงด้านสิทธิเสรีภาพออนไลน์มาก แม้แต่การโพสต์ข้อความออนไลน์ก็จะถูกจำกัด มีการแทรกแซงเนื้อหาและแทรกแซงการสื่อสารส่วนบุคคลได้โดยไม่ต้องอาศัยกฎหมายเฉพาะ

ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ของซีป้ายังระบุว่า นับจากที่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา สถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อของไทยตกต่ำลงไปมาก ถ้าเทียบอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ที่เคยมีเสรีภาพสื่อเบ่งบานเท่าๆ กับประเทศไทยแล้ว ถือว่าประเทศไทยตกต่ำมาก โดยไทยนั้นต้องพบกับการเซ็นเซอร์ในสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น รวมถึงการที่สื่อต้องเผชิญความยากลำบากในการทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งน่าสนใจด้วยว่าเจ้าของสื่อนั้นเห็นปัญหาเหล่านี้และรับมืออย่างไร

นางกุลชาดาชี้ว่า บทบัญญัติที่ให้หลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิมนุษยชน ตามที่เคยบัญญัติไว้อย่างดีแล้วในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 นั้นก็ควรจะเก็บเอาไว้

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงสื่อ และเพิ่มเงื่อนไขในการจำกัดความ ซึ่งจะส่งผลให้สื่อขาดความป็นอิสระในการทำหน้าที่ ขณะที่คณะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของคสช.ระบุว่า ต้องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าเราต้องต้านคอร์รัปชั่น ก็ต้องให้สิทธิประชาชนในการตรวจสอบด้วย เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อนั้นสำคัญ เพราะว่าการตรวจสอบเหล่านี้ไม่ว่าสำหรับภาครัฐหรือนักการเมือง สื่อมีบทบาทสำคัญมาตลอด”

ในรายงานเปรียบเทียบที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของซีป้าเองนั้นระบุรายละเอียดมาตราที่จะส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น เช่นมาตรา 35 วรรค 5 ที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐควบคุมสื่อผ่านการให้เงินอุดหนุน

สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วันนี้ยังคงอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยคณะรัฐมนตรีได้มีข้อเสนอให้บัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงเฉพาะกิจ หรือเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนาน โดยใช้หลักเกณฑ์เหมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นของสถานการณ์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง และช่วงที่2 จะใช้รัฐธรรมนูญปกติ ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะลดข้อจำกัดต่างๆ ลง โดย ครม.เชื่อว่า การบัญญัติแบ่งช่วงเวลาเช่นนี้น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและนานาชาติได้


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top