นักสิทธิมนุษยชนเผยทำงานยากขึ้นท่ามกลางข้อจำกัดทั้งในและนอกกลไกทางกฎหมาย
คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจากหลายองค์กรร่วมกันหารือสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับการทำงานซึ่งมีความท้าทายต่อการถูกคุกคามและดำเนินคดี ชี้การละเมิดสิทธิมีหลากรูปแบบ ทั้งในและนอกกลไกกฎหมาย ด้านรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยอมรับไม่อาจใช้สิทธิเต็มที่ได้ในสภาพปัจจุบัน แต่กลไกคุ้มครองหลายส่วนยังเดินหน้า
น.ส.วราภรณ์ อินทนนท์ ผู้ประสานงานฝ่ายวิชาการและรณรงค์จากสมาคมนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การหารือของคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในวันนี้ (8 ก.ย) เกิดขึ้นเพราะคนทำงานด้านนี้กำลังประสบปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิ แม้หลายคดีที่ทำจะเป็นที่สนใจของสาธารณะเพราะเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อ
น.ส.วราภรณ์ ยกตัวอย่างคดีที่กองทัพเรือฟ้องร้องผู้สื่อข่าวและ นสพ.ภูเก็ตหวาน ที่คนทำงานด้านสิทธิไม่ได้รับความร่วมมือในการทำคดี และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคดี รวมทั้งขาดข้อมูลที่จะช่วยปกป้องผู้ถูกละเมิดหรือผู้ได้รับความเสียหาย
ในการหารือของคนทำงานด้านสิทธิวันนี้ ผู้เข้าร่วมเห็นว่าพวกเขาเผชิญความท้าทาย 4 ประเด็นหลัก เริ่มตั้งแต่ตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนไม่อาจเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ขาดทนายหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสู้คดีเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง ประการที่สองเป็นอุปสรรคทางกฎหมายเองที่ส่งผลให้ขาดเสรีภาพในการชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นทั้งทางออนไลน์หรือการรวมตัวกันจริง กฎหมายเหล่านั้นได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะที่เพิ่งประกาศใช้
ประการที่สามคือการถูกคุมคามซึ่งผิดหลักกฎหมาย ทั้งในรูปแบบของการซ้อมทรมานหรือสูญหาย ประเด็นสุดท้ายก็คือการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐเพื่อสร้างข้อจำกัดในการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนรวมทั้งปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในระยะหลังนี้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพมีความเข้มงวดมาก บางกรณีไม่อนุญาตให้ผู้เข้าฟังจดบันทึก และหลายกรณีก็ไม่อนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์ ทำให้ทำงานยากขึ้น
บรรดาคนทำงานด้านสิทธิเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเจรจากับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อหาทางทำงานร่วมกันให้ได้
ด้าน น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวกับบีบีซีไทยถึงข้อสังเกตของนักสิทธิมนุษยชนโดยยอมรับว่าในสถานการณ์ปัจจุบันอาจทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิบางประการได้ แต่มาตรการคุ้มครองสิทธิหลายอย่างยังมีอยู่และกลไกบางอย่างก็ใช้งานได้ เช่น พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรมซึ่งทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติผ่านไปแล้วจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเป็นประโยชน์กับประชาชนที่ด้อยโอกาส ขณะที่ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจกำลังรอการพิจารณาของกฤษฎีกา เป็นต้น
อนึ่ง สาระสำคัญของ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม คือการกำหนดให้มี กองทุนยุติธรรม ซึ่งจะเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าถึงความยุติธรรม การประกันตัวบุคคล การช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา และการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน‪#‎Phuketwan‬


 
Top