นักวิจัยอังกฤษพบวิธีตรวจอายุชีวภาพของร่างกาย
คณะนักวิจัยจากคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน เผยว่า ค้นพบวิธีการตรวจหาอายุทางชีวภาพของคนเราที่สามารถระบุได้ว่า ร่างกายมีความเสื่อมหรือชราที่แท้จริงมากน้อยเพียงใด นับเป็นการค้นพบที่มีประโยชน์สำหรับคาดการณ์การเสียชีวิต, บ่งชี้ตัวผู้มีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม, อีกทั้งยังช่วยในการวางแผนเรื่องเงินบำนาญและการทำประกันชีวิต
ผลการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Genome Biology โดยทีมวิจัยบอกว่า การพิจารณา “อายุชีวภาพ” หรืออายุตามการเสื่อมสภาพของร่างกายนั้นมีประโยชน์มากกว่าการพิจารณาอายุจากวันเกิด สำหรับงานวิจัยนี้เป็นการทดสอบหา “สัญญาณความชรา” ในเซลล์ร่างกายด้วยการเปรียบเทียบพฤติกรรมของยีน 150 ยีน
ศ.เจมี ทิมโมนส์ บอกว่า สามารถใช้วิธีทดสอบนี้เป็นแนวทางบ่งชี้อายุชีวภาพให้คนอายุ 40 ปีขึ้นไป และว่า “สุขภาพ” และ “อายุ” ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน นอกจากนี้ รูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น การใช้เวลาทั้งวันบนโซฟา ซึ่งหลายคนเชื่อว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพนั้น กลับดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งความชราหรือความเสื่อมของร่างกาย ทีมนักวิจัยเชื่อว่า ปัจจัยเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิตบวกกับอายุชีวภาพจะเป็นตัวบ่งชี้สุขภาพของคนเราได้ชัดเจนกว่า
ปัจจุบันมีแผนทดสอบการปลูกถ่ายอวัยวะในสหราชอาณาจักร เพื่อหาว่าคนสูงวัยแต่ยังมีอายุชีวภาพที่อ่อนเยาว์จะสามารถบริจาคอวัยวะได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ นอกจากนี้ นักวิจัยยังระบุว่า การทดสอบอายุชีวภาพ อาจช่วยให้คนที่มีแนวโน้มที่ร่างกายแก่ชราอย่างรวดเร็วเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ
 
Top