แม่น้ำ 5 สายเหลือ 3 สาย หรือที่จริงก็สายเดียว ในมุมหนึ่งมีข้อดี รวบรัดจัดการง่าย แต่อีกมุมหนึ่งก็คือการถอยกลับไปยืนในที่แคบที่สูง สลัดทิ้ง “แนวร่วม”
ประเด็นอยู่ที่ผู้กุมอำนาจสามารถปรับตัวยืดหยุ่นกับสถานการณ์ที่แปรผันหรือไม่ เพราะกลไกนี้มันเหมาะกับระบอบเผด็จการยุค 2500 ไม่ใชการเมืองโลกปัจจุบันที่สู้กันด้วยกระแส ด้วยความชอบธรรม
การ Restart ไม่สามารถย้อนเวลา 11 เดือนที่สูญเปล่า พอเอาสูตร 6-4 6-4 มายัดใส่ จึงกระทบความรู้สึกคนทั่วไป โห อีกนานกว่าจะเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน การยกร่างรัฐธรรมนูญ มันก็ไม่มีสูตรใหม่สูตรไหนอีกแล้ว จะหาโครงสร้างไหนที่ตรงใจ คสช.แล้วประชาชนรับไหว พรรคการเมืองยอมได้ แค่หากรรมการยกร่างยังไม่ง่ายเลย เพราะไม่ใช่แค่ศพบวรศักดิ์ยังส่งกลิ่นอยู่เห็นๆ แต่การมานั่งเก้าอี้นี้ต้องเป็นยิ่งกว่า "เนติบริกร" พร้อมจะเปลี่ยนพร้อมจะรื้อรัฐธรรมนูญตามที่ คสช.ต้องการ โดยไม่มีความเห็นของตนเอง วิษณุเท่านั้นละครับ ทำได้
ขณะเดียวกันการบริหารประเทศก็มีอุปสรรคมากกว่าเดิม ปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนไป จะหาความนิยมกับการจัดระเบียบ ปราบคอร์รัปชั่น ถอดยศทักษิณ ก็ทำหมดแล้วไง จะเอาอะไรไหม่ สมคิดเรอะ ถ้ารอบนี้สมคิดคว่ำก็พังกันหมด

00000

หลังคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยุบคณะกรรมาธิการยกร่าง ณ วันนี้แม่น้ำ 5 สายก็เหลือเพียง 3 สาย ที่เอาเข้าจริงพูดได้ว่า “สายเดี่ยว” นั่นเอง
เพราะ คสช.กับรัฐบาลตัวบุคคลแทบไม่ต่างกัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็เพิ่งผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณด้วยคะแนน 184-0 เมื่อยุบ สปช.กมธ.ที่เป็นเวทีให้นักวิชาการ คนดีเด่นดัง ภาคประชาสังคม ฯลฯ มาเพ้อเจ้อฟุ้งซ่าน ก็เท่ากับอำนาจและบทบาทการทำงาน กลับไปอยู่ในมือทหารและรัฐราชการที่มีสายบังคับบัญชาชัดเจน
โปรดสังเกตว่าการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด นอกจากกำจัด “ก๊วนอุ๋ย” ให้ทีมเศรษฐกิจอยู่ภายใต้สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อย่างเป็นเอกภาพ ก็ยังเขี่ยรัฐมนตรีสายสังคม เพิ่มรัฐมนตรีทหาร เพิ่มรัฐมนตรีข้าราชการ และดึงตำแหน่งสำคัญๆ ไปอยู่ในมือนายทหารที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ไว้วางใจ
นี่คือการจัดทัพรับสถานการณ์ถ้าต้อง “อยู่ยาว” หรือในทางกลับกัน ถ้าต้องอยู่สั้น ก็พร้อมจะลงได้ทันใจ เพราะเงื่อนไขการยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้เพียงกว้างๆ 6 เดือน ไม่ต้องผ่านใคร ผ่านคณะรัฐมนตรีเป็นใช้ได้ ร่างแล้วแก้ใหม่ก็ได้ในนาทีสุดท้าย
อย่าลืมว่า สภาขับเคลื่อนปฏิรูปกับคณะกรรมการยกร่าง สถานะต่ำกว่า สปช.กับกรรมาธิการ ไม่ต้องนำรายชื่อทูลเกล้าฯถวาย ไม่ถือเป็นแม่น้ำอีก 2 สาย เป็นเพียงองค์กรภายใต้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ฉะนั้นในมุมหนึ่งเราจะเห็นข้อดี ว่าอำนาจนี้รวบรัดจัดการง่าย แต่อีกมุมหนึ่งมันก็คือการถอยกลับไปยืนในที่แคบที่สูง สลัดทิ้ง “แนวร่วม” ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นภาระ ด้านหนึ่งก็เป็นโล่กำบัง (แล้วตอนนี้บางคนก็ “หลังหัก” ยืนกัดฟันกรอดๆ)
ปัญหาจึงอยู่ที่กลุ่มผู้กุมอำนาจจะสามารถปรับตัวยืดหยุ่นกับสถานการณ์ที่แปรผันหรือไม่ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในยุค 2500 หรือยุค 2520 รัฐบาลทหารยิ่งอยู่นานยิ่งเผชิญแรงกดดัน แน่ละ ไม่มีใครคว่ำ คสช.ได้ด้วยกำลัง เพราะคุมทหารตำรวจเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียว แต่โลกปัจจุบันสู้กันด้วยการเมือง ด้วยการช่วงชิงความชอบธรรม ถ้าถึงจุดคับขัน เอาทหารออกมายิงกราดก็มีแต่ทำให้หมดอำนาจอย่างย่อยยับอัปรา
คสช. Restart แต่ไม่สามารถย้อนเวลา 11 เดือนสูญเปล่า จึงมีเสียงเร่งเร้า ไม่เอาสูตร 6-4 6-4 ที่ต้องใช้เวลาอีก 20 เดือนกว่าจะมีเลือกตั้ง ขณะเดียวกันหลังจากคว่ำร่างรัฐธรรมนูญสูตร “อภิรัฐบาล” ก็ต้องถามว่าจะควานหาสูตรไหนที่ คสช.อยากได้ และประชาชนพอยอมรับไหว
เอาแค่การควานหากรรมการยกร่างชุดใหม่ก็ไม่ง่าย ในเมื่อชุดเดิม “ตายตาไม่หลับ” เห็นๆ ใครจะมาเป็นต้องถามก่อนท่านเอาไงแน่ เอาเร็วเอาช้า จะให้อิสระหรือจะให้มาเป็นแค่ช่างเทคนิคทางกฎหมาย ถ้าถูกสังคมรุมประณามแล้วจะยังหนุนหลังจนวินาทีสุดท้าย ฯลฯ มันไม่สนุกหรอกนะครับสำหรับพวกศาสตราจารย์อธิการบดีคณบดี ที่จะเป็นบวรศักดิ์คนต่อไป
หรือใครจะเป็นสภาขับเคลื่อน ถ้าประกาศชื่อแล้วโป๊ะเชะ ตามโผ สปช.ที่ไม่รับร่าง ก็เสียเครดิตตั้งแต่ต้น
การบริหารประเทศพร้อมไปกับยกร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปอะไรนั่น ไม่ใช่เรื่องที่จะ Restart กันง่ายๆ อุปสรรคมากกว่าเดิมเยอะ ปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนไป จะหาความนิยมกับการจัดระเบียบ ปราบคอร์รัปชั่น ก็จัดกันไปหมดแล้ว ถอดยศทักษิณก็ทำแล้ว ไม่มีอะไรเหลือให้เล่นเยอะนักหรอก
ยังไงๆ นี่คือการรื้อโรดแมปรอบสุดท้ายนะครับ ขอบอก ไม่มีรอบหน้าให้แก้ตัว

                                                                                                                        ใบตองแห้ง


 
Top