0
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ)

การเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทำให้เราป่วยจริงหรือ ?
งานวิจัยชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า การเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแทนที่จะช่วยให้คนไข้กลับมามีสุขภาพแข็งแรงดังเดิม แต่กลับทำให้คนไข้มีแนวโน้มที่จะล้มป่วย จนต้องกลับเข้ารับการรักษาอีกครั้ง
โดยทั่วไปเมื่อโรงพยาบาลอนุญาตให้คนไข้กลับบ้านได้ ทั้งแพทย์และคนไข้ต่างหวังว่า จะไม่ได้พบกันอีกในเวลาอันใกล้ แต่กลับมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ราว 1 ใน 5 ของคนไข้ที่ออกจากโรงพยาบาลในสหรัฐฯ ต้องกลับเข้ารับการรักษาอีกครั้งภายในเวลา 1เดือน ขณะที่สัดส่วนในอังกฤษต่ำกว่า คือราว 7% แต่ก็ทำให้บริการสาธารณสุขแห่งชาติ ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณราว 130,000 ล้านบาทเมื่อปีงบประมาณ 2555-2556
ดร. ฮาร์ลัน ครุมโฮลซ์ แห่งศูนย์วิจัยและประเมินผลทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ได้ศึกษาเรื่องนี้และพบว่า คนไข้ส่วนใหญ่ที่กลับเข้าโรงพยาบาลเป็นครั้งที่สอง มาด้วยโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคที่เคยเข้ารักษาก่อนหน้านี้
ดร. ครุมโฮลซ์ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า คนไข้เหล่านี้มีอาการที่เรียกว่า “post-hospital syndrome” (พีเอชเอส) ซึ่งเป็นอาการป่วยหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ดร. ครุมโฮลซ์ชี้ว่า คนไข้ประสบปัญหาความเครียดทั้งทางจิตใจและร่างกายในระหว่างที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยมีสาเหตุหลายประการ อาทิ การพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะถูกรบกวนจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในโรงพยาบาล การไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ การไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายตามปกติ หรือรู้สึกเจ็บปวดไม่สบายตัวจากโรคที่เป็นอยู่ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ทำให้ช่วง 30 วัน หลังออกจากโรงพยาบาล สุขภาพของคนไข้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และมีความเปราะบางต่อโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
ทฤษฎีดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นของ ดร. พอล เกา จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโลโยลา ในรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐฯ ที่ทำการศึกษาคนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดโรคไส้เลื่อนราว 58,000 คน ซึ่งในจำนวนนั้น 1,332 คน ได้เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วง 90 วันก่อนเข้ารับการผ่าตัด และพบว่าคนไข้กลุ่มนี้มีแนวโน้มกลับเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินในช่วง 30 วัน หลังการผ่าตัดสูงเป็น 2 เท่า และมีโอกาสสูงขึ้น 5 เท่าที่จะถูกสั่งให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
ดร. เกา บอกว่า ผลการศึกษาที่ได้ บ่งชี้ว่าแพทย์ไม่ควรผ่าตัดให้คนไข้ในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ควรเว้นช่วงให้ร่างกายคนไข้ได้ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์เสียก่อน ขณะที่ดร. ครุมโฮลซ์ แนะว่า โรงพยาบาลสามารถช่วยให้คนไข้หลีกเลี่ยงภาวะพีเอชเอสได้ ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและบริการของโรงพยาบาล เพื่อให้คนไข้สามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ ไม่เกิดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจในระหว่างที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล ‪#‎posthospitalsyndrome‬



แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top