0

ทีมทนายจำเลยคดีเกาะเต่าออกแถลงการณ์สรุปกระบวนการสู้คดีตลอด 1 ปีที่ผ่านมา วอนศาลยกฟ้องจำเลยในการอ่านคำพิพากษา 24 ธ.ค. นี้
ทีมทนายความอาสาช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของสภาทนายความ ออกแถลงการณ์สรุปกระบวนการสู้คดีตลอด 1 ปีที่ผ่านมาให้แก่จำเลยที่เป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่าสองคน ในคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชายหญิงชาวอังกฤษที่เกาะเต่า โดยแถลงการณ์ตอกย้ำถึงความไม่โปร่งใสในการสืบสวนและเก็บพยานหลักฐานของตำรวจ และขอให้ศาลยกฟ้องจำเลยทั้งสอง ซึ่งศาลจังหวัดเกาะสมุยจะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวในวันที่ 24 ธ.ค. ที่จะถึงนี้
แถลงการณ์ระบุว่า ขณะนี้นายซอ ลิน และไว เพียว (วิน ซอ ตุน) แรงงานข้ามชาติ อายุ 22 ปี จากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา กำลังรอฟังคำพิพากษาของศาลจังหวัดเกาะสมุย ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 24 ธ.ค. เวลา 9.00 น. หลังการสืบพยานสิ้นสุดเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา รวมได้สืบพยานบุคคลจำนวน 34 ปาก ใช้เวลารวม 21 วัน พร้อมทั้งมีการนำเสนอพยานเอกสารจำนวนหลายพันหน้า
แรงงานชาวเมียนมาทั้งสองถูกกล่าวหาว่า ได้ลงมือข่มขืนและฆาตกรรม น.ส. ฮันนาห์ วิทเทอร์ริดจ์ และนายเดวิด มิลเลอร์ ชาวอังกฤษ เมื่อเช้าวันที่ 15 ก.ย. 2557 ที่เกาะเต่า จ. สุราษฎร์ธานี ซึ่งการสืบสวนหาตัวฆาตกรของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยในคดีนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในและต่างประเทศ ในประเด็นเรื่องการเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ รวมทั้งข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและทำร้ายร่างกายจำเลยทั้งสองคนระหว่างการสืบสวน ซึ่งต่อมาจำเลยได้แจ้งแก่ทนายความว่า ได้รับสารภาพโดยไม่สมัครใจเพราะเหตุดังกล่าว
ในคำแถลงการณ์ปิดคดีที่มีการยื่นต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ได้นำเสนอรายละเอียดและข้อสรุปประเด็นสำคัญในการต่อสู้คดีดังนี้
(1) การดำเนินคดีกับจำเลยก่อนฟ้องคดี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกระบวนการสอบสวนหลังการจับกุมและแจ้งข้อหาไม่ถูกต้อง มีการสอบสวนในฐานะพยาน แต่กลับมีคำรับสารภาพคดีฆ่าและข่มขืนกระทำชำเราในคำให้การนั้น ไม่มีการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา และไม่มีการจัดล่ามแปลภาษาและทนายเพื่อปกป้องสิทธิทางกฎหมายให้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
(2) คำรับสารภาพของจำเลยถูกทำขึ้นโดยไม่สมัครใจ เพราะเหตุที่จำเลยถูกทรมานและข่มขู่ จนทำให้เกรงกลัวอันตรายต่อชีวิตและความปลอดภัย
(3) จำเลยไม่เกี่ยวข้องกับอาวุธที่ใช้ก่อเหตุฆาตกรรม (จอบ) เพราะไม่ปรากฏดีเอ็นเอของจำเลยที่จอบ แต่ปรากฏข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลอื่นแทน
(4) หลักฐานดีเอ็นเอที่อ้างว่าเชื่อมโยงตัวจำเลย รวมทั้งพยานวัตถุหรือหลักฐานแวดล้อมทั้งหมดที่ใช้ยืนยันความผิดของจำเลย ขาดความน่าเชื่อถือและไม่อาจรับฟังได้ เพราะขาดกระบวนการจัดเก็บ ทดสอบ หรือวิเคราะห์ตามหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ เช่น มาตรฐาน ISO 17025
(5) สำนวนฟ้องขาดหลักฐานชิ้นสำคัญที่จำเป็นในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย ซึ่งรวมถึงภาพจากกล้องวงจรปิดที่สมบูรณ์ รายงานการชันสูตรพลิกศพ และการวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่ยังไม่ถูกตรวจสอบ เช่น เสื้อผ้าและผิวหนังตามร่างกายของผู้ตายเพศหญิง ซึ่งคาดว่าจะมีร่องรอยดีเอ็นเอที่สำคัญของผู้กระทำผิดอยู่
ด้วยเหตุผลข้างต้น ทีมทนายจำเลยจึงเสนอในบทสรุปของคำแถลงการณ์ปิดคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองเสีย ในการอ่านคำพิพากษาวันที่ 24 ธ.ค. นี้


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top