0
วงเสวนาที่เชียงใหม่ค้านร่าง รธน.มีชัย-ชวนสามัญชนร่าง รธน.ขึ้นเองจากดิน
Posted: 24 Feb 2016 01:55 PM PST   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
วงเสวนาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่คณะนิติศาสตร์ มช. ชัชวาล ทองดีเลิศ ชี้ร่าง รธน.มีชัยถอยหลังกว่า รธน.40 ปิดโอกาสชุมชนจัดการศึกษา - ภัควดี วีระภาสพงษ์ ชูปฏิรูปกองทัพ พาทหารออกจากการเมือง ชาวบ้านชวนอ่านคำประกาศ 10 ข้อ "เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับสามัญชน" หลังจบวงเสวนา เสนอการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับสามัญชน ไม่ให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดอีกต่อไป


ที่มาของภาพ: เพจขบวนการอีสานใหม่
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวงเสวนา “ร่างรัฐธรรมนูญจากสามัญชน ร่างรัฐธรรมนูญที่งอกงามจากผืนดิน” ทั้งนี้มีผู้ร่วมงานราวหนึ่งร้อยคน ภายในงานมีแผ่นกระดานเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเขียนสิ่งที่อยากจะสื่อสารในหัวข้อรัฐธรรมนูญที่ตนเองอยากได้ และมีการแสดงซอ การแสดงละคร และดนตรีจากวงสามัญชน
โดยในวงเสวนามีกิจกรรมช่วง “ประชาชนขอพูดเอง” ให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้พูดคนละ 5 นาที โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้คนในสังคมที่มีโอกาสน้อย มีโอกาสได้พูดมากขึ้น
"พล" จากกลุ่ม “พลเรียน” พูดถึงประเด็นการศึกษาในรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 หมวด 5 ว่า เป็นการลดทอนสิทธิการศึกษา เป็นย้ายการจัดการศึกษาภาคประชาชน ให้มาอยู่ในส่วนของรัฐ นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาลดทอนคุณภาพการศึกษา ลดทอนความแตกต่างหลากหลาย ลดทอนการเข้าถึงคลื่นความถี่วิทยุ
ส่วน “แม่รส” กลุ่มรักษ์บ้านเกิดเหมืองทอง กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องร่างเอาเอง เพราะเขาไม่เห็นคุณค่า ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญ ทรัพยากรต้องเป็นของชุมชน ชุมชนต้องดูแลเอง จัดการได้เอง เพราะชุมชนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเสมอ ทั้งนี้กลุ่มรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตซ ได้ร่วมกันร้องเพลงด้วย
ด้าน “พ่อบุญช่วย” ชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์ โคกหินขาว เล่าว่ากลุ่มของเขาขับเคลื่อนประเด็นทางทรัพยากรมาหลายปี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เขาเห็นว่าเป็นการตัดสิทธิของประชาชน  ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้นับประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนชาวไทย แต่กลับไปให้ประโยชน์กับกลุ่มทุนต่างชาติ ทางออกควรให้ประชาชนหรือสามัญชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายเพื่อรักษาทรัพยากรของประเทศ ประชาชนคนไทยทั้งประเทศควรมีส่วนร่วมในการเขียน ไม่ใช่ถูกผูกขาดด้วยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการเขียนรัฐธรรมนูญ
“พ่อวิ้ง” ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นามูล-นาสาด จ.อุดรธานี กล่าวว่าหลังรัฐประหาร มีการนำกำลังทหาร ตำรวจเข้าไปในพื้นที่ คำถามคือทำไมภาพลักษณ์ของตำรวจ ทหารถึงเอื้ออำนวยประโยชน์ให้นายทุน ทั้งนี้พ่อวิ้งกล่าวว่าไม่อยากให้ทหารหรือตำรวจมีอำนาจเบ็ดเสร็จ อยากให้มีรัฐธรรมนูญ กำหนดสิทธิให้ชาวบ้านฟ้อง ข้าราชการได้ ถ้าข้าราชการเมินเฉย รวมทั้งสามารถผิดผู้ทำผิดเรื่องการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

000

ต่อมาในช่วงวงเสวนา ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปลอิสระ กล่าวเรื่องการปฏิรูปกองทัพว่า จะต้องเอากองทัพออกไปจากการเมือง เอาปืนออกจากสังคม สนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจออกไปยังทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนให้ชุมชนรวมกลุ่มกัน เพื่อใช้จำนวนของประชาชนในการต่อสู้ต่อรองกับรัฐ
ชัชวาล ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก  กล่าวถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าเปิดพื้นที่เรื่องสิทธิการศึกษาได้ชัดที่สุด สิทธิในการจัดการศึกษาถูกยอมรับในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ขบวนการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาตั้งแต่บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันสอนภาษา มีสิทธิในการจัดการศึกษาได้ ซึ่งแต่เดิมรัฐผูกขาดการศึกษาไว้แต่เพียงผู้เดียว พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 2550 มีความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นมามีการพูดชัดขึ้นว่า หนึ่ง เรื่องการฝึกอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะต้องได้รับความคุ้มครอง และส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ หมายถึงการขยายการศึกษาที่มีความกว้างใหญ่ไพศาลมากขึ้น ทุกเรื่องถูกดึงเข้ามาในหมวดสิทธิ เสรีภาพที่จะต้องได้รับการส่งเสริม แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ถือเป็นการถอดรากถอนโคนทั้งหมด ริบอำนาจจัดการศึกษาไปอยู่ในมือของรัฐ ถือว่าเป็นการถอยหลังไปในยุคก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เสียอีก
ชัชวาลกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มในทศวรรษ 2540 นั้น เขากล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในทศวรรษที่สองแล้ว และปัจจุบันยังมีคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาชุดดังกล่าวอยู่ เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่เห็นได้ชัดว่าถ้ารัฐเป็นผู้ปฏิรูปการศึกษาจะไม่เคยทำสำเร็จ เพราะวิธีคิดในเรื่องการศึกษาของรัฐ ใช้การศึกษาในการสร้างพลเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของตนเอง เรื่องที่เห็นได้ชัดคือการผลิตเรื่องชาตินิยม อำนาจนิยม ผลิตคนเพื่อป้อนตลาดแรงงานหรืออีกนัยหนึ่งคือรับใช้ทุนนิยม ชัชวาลย์กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ในการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา จุดคานงัดที่สำคัญคือ ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา
ไพบูลย์ สร้อยสด จากบ้านก้าวบาตร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 รัฐถูกกำหนดหน้าที่ในการจัดหาทรัพยากรมาให้เกษตรกร แต่ร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้น ไม่มีการเขียนเรื่องที่ดินเลย เรื่องการจัดหาเครื่องมือเกษตรกรก็ไม่มี เท่ากับผลักเกษตรกรไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมก็ไม่มี เพราะในทางปฏิบัติมีกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถชุมนุมได้ ทั้งนี้เขาไม่มีความรู้สึกที่จะอาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งใดอีกแล้ว และจะไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเห็นว่าร่างรัฐประหารฉบับมีชัยเป็นเชื้อร้ายต่อเกษตรกร
หลังจบงานเสวนา ผู้จัดงานเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานร่วมกันสร้างร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาโดยเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างมาจากดินและเชิญให้ทุกคนร่วมปักใบไม้ โดยเปรียบเหมือนการร่วมสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนเอง นอกจากนี้ยังมีการอ่านคำประกาศของสามัญชน ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารและจะร่วมผลักดันรัฐธรรมนูญของประชาชน และการประกาศ 10 ข้อ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับสามัญชน

000

คำประกาศของสามัญชน
เกือบศตวรรษ ที่เป็นกระแสธารไหลผ่านมาสู่ปัจจุบัน เป็นกระแสธารของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์เมื่อครั้งคณะราษฎรได้หว่านไว้ในสังคมไทยด้วยเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญถือเป็นแนวทางอันจะได้ปกครองประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย กำหนดอธิปไตยให้เป็นของประชาชน ส่งเสริมอำนาจของประชาชน รัฐธรรมนูญจึงเป็นอำนาจของประชาชน ตลอดกระแสธารประชาธิปไตยจนปัจจุบัน มีการพยายามขุดโค่น ทำลายต้นไม้จากเมล็ดพันธ์ประชาธิปไตยที่กำลังจะงอกงาม เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับมีเพียงไม่กี่ฉบับและถือเป็นส่วนน้อยที่ถูกเขียนหรือให้ส่วนร่วมแก่ประชาชนในการเขียนขึ้น เพื่อยังไว้ซึ่งต้นไม้ที่มีกิ่งใบแห้งเหี่ยวให้กลับมามีสีเขียวขจี เพียงแต่ที่เหลือนั้นได้มาจากกลุ่มบุคคลที่ไม่ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจโดยการรัฐประหาร เสมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ ที่รัฐธรรมนูญถูกใช้เพื่อรักษาอำนาจของชนชั้นนำตลอดมา เพียงแต่หน้าตาของผู้จะเข้ามาสร้างรัฐธรรมอันเป็นการทำลายอำนาจประชาชนเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเพียงเท่านั้น และเป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทยตลอดมาว่ารัฐบาลจากการรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นที่จะมาเขียนรัฐธรรมนูญอันเป็นอำนาจของประชาชน เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ได้เลือกมาและไม่ได้ให้อำนาจประชาชนอย่างแท้จริง
หมดเวลาแล้ว สำหรับรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชน หมดเวลาแล้วสำหรับการสืบทอดอำนาจของคนไม่กี่กลุ่มในสังคม หมดเวลาแล้วสำหรับอำนาจของกองทัพที่วนเวียนในการทำรัฐประหารแทรกแซงการเมืองของประชาชนมาตลอด
ใบไม้ผุดขึ้นมาจากดิน งอกมาจากดิน ดังเช่นพวกเราที่เป็นสามัญชนคนธรรมดา ที่มาจากรากหญ้าของสังคม ใบไม้คือประชาชน จากนี้ใบไม้ของเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยต้องงอกงามไม่ถูกทำลายโดยเชื้อร้ายของสังคม เจตจำนงของประชาชนต้องถูกพูดถึงในรัฐธรรมนูญทุกยุคสมัยของสังคมประชาธิปไตยต่อไป
เราขอประกาศว่า ถึงเวลาที่ประชาชนจะก้าวขึ้นมาทวงคืนอำนาจอันเป็นของประชาชนที่จะไม่ได้ผูกขาดอำนาจรัฐไว้เพียงแต่กลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คน ทวงคืนเสรีภาพที่หายไปในชีวิต ทวงคืนสิทธิการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองที่เราไม่เคยได้จากรัฐธรรมนูญเลย และทวงคืนประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่เราได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับอนาคตประเทศ เราจะสร้างรัฐธรรมนูญของเราเอง ไม่ยอมรับอำนาจพิเศษที่จะมาคิดแทนประชาชน และจะไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร เราจะร่วมผลักดันรัฐธรรมนูญประชาชนกับสามัญชนทั่วประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีชีวิตของสามัญชนอยู่ในนั้น ใบไม้ทุกใบของประชาชนจะต้องถูกประดับบนต้นไม้จากเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยให้ได้งดงามต่อไป
เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
ขอประกาศไว้ ณ วันที่  24 กุมภาพันธ์  2559

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับสามัญชน
1.    ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และมีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง
2.    เพิ่มอำนาจประชาชน  รัฐต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพของประชาชน
3.    โครงสร้างอำนาจของประเทศที่ยึดโยงกับประชาชน ลดการผูกขาดอำนาจของรัฐ กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่
4.    หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง เสมอภาค ยุติธรรม
5.    สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก
6.    คงไว้และเพิ่มสิทธิชุมชน อำนาจในการจัดการทรัพยากร
7.    มีรัฐสวัสดิการ เพิ่มความเป็นธรรม ปฏิรูปที่ดิน การศึกษา กระบวนการยุติธรรม
8.    ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
9.    ทำลายวงจรรัฐประหาร
10.  แก้ไขความขัดแย้งด้วยวิถีประชาธิปไตย และสันติวิธี


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top