0
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) ประธานาธิบดีโอบามา
โอบามากับความพยายามดึงสหรัฐฯ ออกจากสงครามในต่างแดน

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการปกป้องนโยบายด้านสงครามของเขา โดยมุ่งหวังที่จะดึงสหรัฐฯ ออกจากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับสงครามในอิรัก ซีเรีย และอัฟกานิสถาน แต่คิม กัตตัสผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงวอชิงตันบอกว่า รูปการณ์ในปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มว่า ความหวังของผู้นำสหรัฐฯ จะกลายเป็นความจริงได้ ก่อนที่เขาจะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2

ผู้สื่อข่าวบีบีซีระบุว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่าน นายโอบามาได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ทำเนียบไวท์เฮาส์เกี่ยวกับนโยบายการต่อสู้กับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส) ทั้งยังเดินทางเยือนกระทรวงกลาโหมและศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ ซึ่งแม้จะไม่ได้ประกาศเรื่องใหม่ ๆ ออกมา แต่ผู้นำสหรัฐฯ ก็พยายามพูดเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่ตกอยู่ในความหวาดกลัว หลังเกิดเหตุก่อการร้ายที่เมืองซานเบอร์นาร์ดิโนและกรุงปารีส

ในขณะที่นายโอบามา เริ่มต้นวันหยุด 2 สัปดาห์ในฮาวาย เขาก็เล็งเห็นการทำงานในปีหน้าซึ่งเป็นปีสุดท้ายในตำแหน่งประธานาธิบดีว่า สหรัฐฯ ยังมีทหารปฏิบัติการภาคพื้นดินในอิรัก ซีเรีย และอัฟกานิสถาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาจะเคยให้คำมั่นว่าจะถอนทหารทั้งหมดออกมาจากอิรักและอัฟกานิสถานก็ตาม ส่วนสงครามในซีเรียนั้นเป็นสิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ พยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด แต่สุดท้ายก็จำต้องเข้าร่วมเพราะภัยคุกคามจากไอเอส

ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่าการที่นายโอบามาซึ่งต่อต้านการทำสงครามในต่างแดน ก้าวมาถึงจุดนี้ได้นั้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ความไม่เต็มใจที่จะปรับเปลี่ยนแก้ปัญหาให้เหมาะกับสถานการณ์ และการจำกัดความแบบแคบ ๆ ว่าเรื่องใดถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

นายโอบามาถูกวิจารณ์เรื่องการถอนกำลังทหารออกจากอิรักเร็วเกินไป และล้มเหลวในการกดดันอิรักให้ทำข้อตกลงยอมให้กองทัพสหรัฐฯ คงกำลังทหารในประเทศเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและเดินหน้าช่วยอิรักสร้างกองทัพที่แข็งแกร่ง ซึ่งบรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารยืนยันว่า การคงทหารอเมริกันกลุ่มเล็ก ๆ ไว้ในอิรัก ไม่อาจช่วยหยุดยั้งการขยายอำนาจของไอเอส

เมื่อปีก่อนเจ้าหน้าที่การทูตยุโรปรายหนึ่งชี้ว่า หากสหรัฐฯ คงทหารไว้ในอิรักโดยได้รับการยินยอมอย่างถูกต้องก็จะสามารถต่อสู้กับไอเอสได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ไอเอสเริ่มบุกยึดเมืองแรกในอิรัก และสถานการณ์คงไม่เลวร้ายเช่นทุกวันนี้

เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นายโอบามาต้องกลืนน้ำลายตัวเองเรื่องที่จะถอนกำลังหน่วยสู้รบทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในสิ้นปี 2559 แต่สุดท้ายก็ต้องคงทหารไว้ 5,500 คน หลังจากกลุ่มตาลีบันเริ่มกลับขึ้นมามีอิทธิพลอีกครั้ง จนทำให้เกิดความวิตกว่า จะเกิดเหตุซ้ำรอยทำนองเดียวกับเหตุการณ์ในอิรัก

นอกจากนี้ การที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่เต็มใจที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองในซีเรีย และตัดสินใจเริ่มปฏิบัติการทางทหารในซีเรียล่าช้าเกินไป รวมทั้งการประเมินว่าปัญหาความไม่สงบในซีเรียและกลุ่มไอเอส ไม่ถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อสหรัฐฯ ก็ถูกวิจารณ์ว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียยืดเยื้อและไอเอสแข็งแกร่งขึ้น

ขณะที่บรรดาชาติพันธมิตรในยุโรปต่างแย้งว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ เพราะมันเป็นภัยต่อชาติในยุโรปซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไอเอสก้าวขึ้นมามีอำนาจแข็งแกร่ง และการที่มีนักรบจิฮัดเดินทางเข้าและออกซีเรีย ไปจนถึงเรื่องวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรมของผู้อพยพชาวซีเรียที่หลั่งไหลเข้ายุโรป #USatWar#Obama



แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top