0

มีโอกาสจะเกิดสงครามในห้วงอวกาศหรือไม่ ?
ในอดีตการถ่วงดุลอำนาจด้านนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอดีตสหภาพโซเวียต ได้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสงครามในอวกาศ แต่โลกในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น และมีประเทศต่าง ๆ ราว 60 ชาติ เข้าไปใช้พื้นที่ในห้วงอวกาศ จนทำให้เกิดคำถามว่ามีโอกาสมากขึ้นหรือไม่ที่จะเกิดสงครามซึ่งมีชนวนเหตุมาจากการโจมตีดาวเทียมในอวกาศ คริส โบว์ลบี ผู้สื่อข่าวบีบีซี ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่ชี้ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้
ปีเตอร์ ซิงเกอร์ นักวิเคราะห์ด้านการทหารจากมูลนิธินิวอเมริกาบอกว่า แนวความคิดเรื่องสงครามในอวกาศ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเพียงเรื่องในนิยายวิทยาศาสตร์กำลังเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน แม้จะไม่ใช่ในลักษณะของสงครามระหว่างอาณาจักรในจักรวาล หรือการใช้ยานอวกาศต่อสู้กัน แต่หากเป็นการต่อสู้ที่มุ่งเป้าไปที่ดาวเทียม
ซิงเกอร์ชี้ว่า ปัจจุบันดาวเทียมเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งด้านการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่น ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และการบอกพิกัดนำทาง รวมทั้งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อด้านการทหารยุคใหม่ ดาวเทียมเปรียบเสมือนระบบประสาทของกองทัพสหรัฐฯ ที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการสื่อสาร 80% ของกองทัพ ซึ่งรวมถึงการสื่อสารที่สำคัญในระบบป้องกันอาวุธนิวเคลียร์
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ดาวเทียมด้านการทหารถูกออกแบบให้รองรับการสื่อสาร เพื่อควบคุมการจุดชนวนระเบิดนิวเคลียร์ และการตรวจจับการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ ซึ่งดาวเทียมเหล่านี้จะอยู่ที่วงโคจรค้างฟ้า ซึ่งเป็นบริเวณที่หลายฝ่ายเคยคิดว่าเป็นที่ปลอดภัย จนกระทั่งจีนทำการทดลองขีปนาวุธ เมื่อปี พ.ศ. 2556 และสามารถยิงเข้าไปใกล้กับวงโคจรดังกล่าว ซึ่งอยู่ที่ระดับราว 36,000 กม. เหนือพื้นโลก
กรณีที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับสหรัฐฯ ไม่น้อย โดย พล.อ. จอห์น ไฮเทน แห่งกองบัญชาการอวกาศของสหรัฐฯ แสดงความกังวลว่าการทดลองของจีนอาจเป็นภัยคุกคามพื้นที่อวกาศที่สหรัฐฯ เข้าไปใช้งาน และว่าจะต้องหาหนทางในการป้องกันดาวเทียมที่สำคัญของตน
เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรกที่ความขัดแย้งในอวกาศอาจเป็นชนวนให้เกิดสงคราม เพราะในอดีตสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียตก็เคยมีความขัดแย้งทำนองนี้มาแล้ว โดยที่อดีตสหภาพโซเวียตเคยคิดเรื่องการโจมตีดาวเทียมทหารของสหรัฐฯ ในยามสงคราม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าจีนน่าจะมีความคิดแบบเดียวกันในปัจจุบัน
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ในช่วงเวลาแห่งความหวาดระแวงไม่ไว้ใจกัน ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงว่า ความเสียหายของดาวเทียมทหารที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ เช่น การชนกับขยะในอวกาศ อาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำที่เป็นปรปักษ์ได้ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2550 จีนได้ทดสอบทำลายดาวเทียม จนก่อให้เกิดชิ้นส่วนขนาดเล็กจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ในอวกาศ ซึ่งอาจไปชนเข้ากับดาวเทียมอื่น ๆ ได้
นอกจากนี้ ซิงเกอร์ยังบอกว่า การโจมตีทางไซเบอร์ต่อดาวเทียมทหารก็เป็นอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่การโจมตีรูปแบบนี้มีเพียงชาติมหาอำนาจอย่าง รัสเซีย จีน และสหรัฐฯ เท่านั้นที่มีศักยภาพพอจะทำได้
ปัจจุบันดาวเทียมมีความสำคัญมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มันถูกใช้งานทั้งในการจารกรรมข้อมูล การเล็งเป้าหมายและนำวิถีอาวุธต่าง ๆ ห้วงอวกาศได้กลายเป็นสถานที่ของการแข่งขันด้านการทหารและในเชิงพาณิชย์ ซิงเกอร์ชี้ว่าจะยังมีความตึงเครียดในการที่ประเทศต่าง ๆ เข้าไปใช้พื้นที่ในอวกาศต่อไปไม่สิ้นสุด และแม้ปัจจุบันจะยังไม่เกิดความขัดแย้งหรือสงครามในอวกาศ แต่ก็ไม่มีเครื่องรับประกันว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต
‪#‎ChinaSpaceProgramme‬ ‪#‎SpaceStation‬ ‪#‎SpaceExploration‬
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) การปล่อยจรวดของจีนที่ศูนย์ส่งดาวเทียมซีชาง ในมณฑลเสฉวน


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top