องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ อนุญาตให้ชายเกย์บริจาคเลือดได้หากไม่มีเพศสัมพันธ์มาเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งเป็นการยกเลิกการห้ามที่ดำเนินมานานถึง 30 ปี แต่นักกิจกรรมชาวเกย์บางส่วนบอกว่าเงื่อนไขเรื่องการไม่มีเพศสัมพันธ์มาเป็นเวลาหนึ่งปีนั้นถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขเรื่องการไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 1 ปี เป็นหลักเกณฑ์ดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น
การห้ามเกย์บริจาคเลือดเกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเอดส์ในทศวรรษ 1980 ซึ่งต่อมากลุ่มต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการบริจาคเลือดได้เรียกร้องให้ยกเลิกการห้าม โดยระบุว่าไม่มีเหตุผลทางการแพทย์รองรับ
โฆษกของกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน เดวิด สเตซีย์กล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นการก้าวเดินในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ก็บอกว่าองค์การอาหารและยายังต้องก้าวไปให้ไกลกว่านี้อีก การกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่นี้ยังคงเป็นการตีตราผู้ชายเกย์และไบเซ็กชวลอยู่นั่นเอง ซึ่งไม่มีเหตุผลชอบธรรมเมื่อคำนึงถึงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการคัดกรองเลือดที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน
การตัดสินใจขององค์การอาหารและยาครั้งนี้สืบเนื่องจากข้อเสนอแนะอย่างเป็นทางการในปี 2557 หน่วยงานนี้ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานของประเทศในการรับบริจาคเลือดซึ่งต้องมีการตรวจสอบหาเชื้อ
ก่อนหน้าการเปลี่ยนกฎนี้ คนที่อยากจะบริจาคเลือดในสหรัฐฯ ที่ยอมรับว่ามีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นหลังจากปี 2520 ไม่ได้รับอนุญาตให้บริจาคเลือด
นโยบายใหม่นี้ปฏิบัติต่อชายเกย์แบบเดียวกับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอื่นๆ คนที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับโสเภณีหรือคนที่ใช้ยาเสพติดโดยฉีดเข้าทางเส้นเลือดในช่วงเวลา 12 เดือนก่อนหน้าก็ถูกห้ามไม่ให้บริจาคเลือดเช่นกัน
อังกฤษ (ยกเว้นไอร์แลนด์เหนือ) ญี่ปุ่นและออสเตรเลียห้ามชายที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่นบริจาคเลือดเป็นเวลาหนึ่งปี ในขณะที่แคนาดากำหนดเวลาห้ามห้าปี ไม่มีการห้ามในอิตาลี เม็กซิโก โปแลนด์ โปรตุเกส รัสเซียและสเปน แต่บางประเทศมีการสอบถามคัดกรองผู้บริจาคที่เข้มงวดกว่า
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น