0

iLaw

ศาลทหารชี้! คดีรินดาโพสต์เฟซบุ๊กเป็นแค่หมิ่นประมาทพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 สั่งจำหน่ายคดีระหว่างรอพิจารณาว่าคดีต้องไปขึ้นศาลไหน
วันนี้(21 ธค.58) ศาลทหารกรุงเทพ นัดสอบคำให้การ คดีรินดา นักกิจกรรมวัย 44 ปี ถูกตั้งข้อหายุงยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายมาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ และภรรยาทุจริตภาษีประชาชน โอนเงินไปประเทศสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท (รายละเอียดคดี http://freedom.ilaw.or.th/th/case/682)
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 นอกจากรินดา และทนายความแล้ว วันนี้มีผู้สังเกตการณ์มาร่วมฟังพิจารณาคดีอีก 2 คน เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ โดยศาลยังไม่ได้ถามคำให้การรินดา ว่าจะให้การอย่างไร แต่ศาลอ่านคำฟ้องของโจทก์ และศาลแจ้งว่า คดีนี้ศาลพิเคราะห์ข้อความตามฟ้องว่า "พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยาทุจริตภาษีประชาชน โอนเงินไปประเทศสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท "
แล้วเห็นว่า ไม่เข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามาตรา 116 ซึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่ข้อความนี้อาจเป็นเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328
เนื่องจากจำเลยเป็นพลเรือน ศาลทหารจึงมีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือนเฉพาะในความผิดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือความมั่นคงของรัฐ หรือความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ/คำสั่ง คสช. เท่านั้น เมื่อคดีไม่เกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 116 ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้
จากนั้นศาลถามทนายของรินดาว่าเห็นอย่างไร ทนายแถลงว่า คดีนี้ไม่ควรอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ส่วนจะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาหรือไม่ คงเป็นเรื่องของการสู้คดีต่อไป
ด้านอัยการทหาร ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ ออกไปปรึกษากับผู้บังคับบัญชาบริเวณนอกห้องพิจารณาคดี จากนั้นจึงกลับเข้ามาอีกครั้ง พร้อมอัยการทหารอีกคน ศาลจึงอ่านคำฟ้องให้ฟังอีกครั้ง และย้ำว่าคดีนี้ศาลเห็นว่าไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 และศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดี
อัยการทหารจึงแถลงค้านเพียงสั้นๆว่า คดีนี้ศาลทหารมีอำนาจวินิจฉัยคดี เมื่อศาลเห็นว่าอัยการโจทก์คัดค้าน จึงขอส่งคำร้องไปให้ศาลอาญาพิจารณาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาหรือไม่ และสั่งให้ระงับการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราว เพื่อรอฟังการวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลก่อน ซึ่งหากศาลอาญาเห็นตรงกันกับศาลทหาร ก็จะจำหน่ายคดีให้ไปฟ้องที่ศาลอาญาแทน
เกี่ยวกับคดีนี้รินดาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เรียกร้องให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับการเงิน ช่วยกันสกัดการโอนเงินจำนวนหลายหมื่นล้านบาทไปยังประเทศสิงคโปร์ โดยเงินดังกล่าวเป็นเงินที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา ได้มาโดยมิชอบ
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 รินดาถูกพาตัวมาฝากขังที่ศาลทหาร และศาลอนุญาตให้ฝากขังมาแล้ว โดยในครั้งแรกศาลทหารเคยไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาถูกจับกุมในคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากปล่อยชั่วคราวอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวน ทำให้รินดาต้องถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง เป็นเวลา 3 วันก่อนได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2558
นอกจากรินดาเเล้ว หลังรัฐประหารยังมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 ในลักษณะโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ เช่น
สมบัติ บุญงามอนงค์-โพสต์เฟซบุ๊กให้คนออกมาชุมนุม (http://freedom.ilaw.or.th/th/case/604)
จุฑาทิพย์-โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ( https://goo.gl/kbgaqQ)
ชญาภา - โพสต์เฟซบุ๊กข่าวลือเรื่องปฏิวัติซ้อน (http://freedom.ilaw.or.th/th/case/689)
ฐนกร - แพร่ผังวิจารณ์ทุจริตอุทยานราชภักดิ์และกองทัพบก ( http://on.fb.me/1J1rEGz)
ธเนตร -แพร่ผังวิจารณ์ทุจริตอุทยานราชภักดิ์และกองทัพบก (http://on.fb.me/1J1rEGz)
อ่านรายละเอียดคดี รินดาทั้งหมด ---> http://freedom.ilaw.or.th/th/case/682
ทำความเข้าใจ การใช้ความผิดยุยงปลุกปั่นตามาตรา 116 ในยุครัฐบาล คสช. --->http://on.fb.me/1S3Bvxq


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top