0

11 ปีสึนามิ..อย่าให้ความสูญเสียสูญเปล่า "ดร.ทักษิณ"คณะแรกจากภายนอกที่เข้าไปถึงจุดที่เกิดเหตุรุนแรงที่สุด
******************************************
เช้าวันนี้ (26ธค. 47) เมื่อ 11ปีที่แล้ว ประเทศไทยของเราต้องตกอยู่ในความโศกเศร้าอย่างยิ่ง จากการเกิด“สึนามิ” ที่ได้นำความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นความเจ็บปวดที่เราไม่อยากจะให้เกิดขึ้นกับประเทศของเราอีก แต่เราต้องไม่ให้ความเจ็บปวดจากภัย"สึนามิ" เมื่อปี 2547 สูญเปล่า เราจึงควรนำบทเรียน “สึนามิ” เมื่อ 11 ปีก่อนมาพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติ และระบบการกู้ภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
.
เวลาผ่านไปเร็วมากนะคะ ยังจำเหตุการณ์ความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี ดิฉันได้รับมอบหมายให้ลงไปดูแลช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บทันทีที่เกิดเหตุ และอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องอีก 3สัปดาห์
.
จุดแรกที่เดินทางไปคือ รพ.ป่าตอง ภาพที่เห็นตรงหน้าที่รพ. ทำให้ดิฉันแทบช็อค เพราะก่อนขึ้นเครื่องจากกรุงเทพฯได้รับข้อมูลจากทางจังหวัดว่า มีผู้เสียชีวิตประมาณ 20 ราย มีผู้บาดเจ็บประมาณ 50 ราย แต่พอมาถึงรพ. ในห้องฉุกเฉิน และบริเวณโถงรพ. เต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บ หลายร้อยคน และผู้เสียชีวิตมากมายจนห้องดับจิตไม่เพียงพอ
.
จากนั้นดิฉันและคณะแพทย์ก็ได้รับคำสั่งให้เข้าพื้นที่พังงา พร้อมท่านนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถือเป็นคณะแรกจากภายนอกพื้นที่ ที่เข้าไปถึงจุดที่เกิดเหตุรุนแรงที่สุด เราเดินทางด้วยเฮลิปคอปเตอร์ ต่อด้วยรถปิกอัพ และต้องเดินเท้าลุยโคลนไปอีกประมาณ 3-4 กม. เราจึงถึงจุดที่เรือตรวจการขนาดใหญ่ที่ถูกพัดเข้ามาบนแผ่นดินกว่า 1 กม. ภาพที่เห็นตรงหน้าทำให้ตกตะลึงอย่างยิ่ง ตึกโรงแรมต่างๆ อาคารพาณิชย์ บ้านเรือนพังพินาศ ตลอดทางที่พวกเราเดินลุยโคลนจนถึงริมหาด มีร่างผู้เสียขีวิตที่จมโคลนอยู่มากมาย เราพยายามค้นหาผู้รอดชีวิตอย่างเต็มที่ และได้ช่วยผู้รอดชีวิตออกมาได้ร่วม 10คนในบ่ายวันนั้น


.
เหตุการณ์ “สึนามิ ” ครั้งแรก ของเมืองไทย เมื่อปี 2547 ได้ทำความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และกระทบต่อจิตใจชาวไทย อย่างใหญ่หลวง
.
แต่สิ่งที่เราได้เห็นในยามเกิดภัยพิบัติ คือ “น้ำใจที่ยิ่งใหญ่” ของพี่น้องชาวไทยที่หลั่งไหลไปช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ
.
ดิฉันขอแสดงความชื่นชมต่อเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะคณะแพทย์ พยาบาล และเหล่าอาสาสมัคร ในการช่วยชีวิตผู้ประสบภัย และช่วยค้นหาผู้เสียชีวิต อย่างทุ่มเท และเสียสละ
.
ขอให้กำลังใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสียทุกครอบครัวนะคะ บาดแผลแห่งความสูญเสียครั้งใหญ่จาก “สึนามิ” ในครั้งนั้นอาจจะยังอยู่ในหัวใจของคนไทย โดยเฉพาะครอบครัวผู้สูญเสีย แต่เราต้องนำความเจ็บปวดจากภัย “สึนามิ” ในปี 2547 มาเป็นบทเรียน เพื่อวางระบบป้องกันภัย และการแก้ไขปัญหาในภาวะภัยพิบัติของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันการณ์
.
วันนี้ผ่านมาถึง 11 ปีแล้ว รัฐควรต้องตรวจสอบว่าหน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในเรื่องการช่วยเหลือในยามเกิดภัยพิบัติมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน อย่าให้ความเจ็บปวดในเหตุการณ์ “สึนามิ” ปี 2547 ต้องเสียเปล่านะคะ
.
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
อดีต รมว.สาธารณสุข
อดีต รมว.เกษตรฯ

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top