หลังจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประกาศเตรียมปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง โดยจะระดมความคิดกันแบบประชารัฐ คือ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อหาทางออกว่าจะมีการดำเนินการเพื่อให้ระบบสุขภาพมีความยั่งยืนอย่างไร จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นการล้มระบบ และจะทำให้ประชาชน โดยเฉพาะคนยากจนต้องควักเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกระแสดังกล่าว มีการแชร์ข้อความในโลกโซเชียลกันมาก โดยเฉพาะในเพจ "เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล" ออกมาพูดถึงกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า บัตรเดียวทำประเทศถังแตก เนื้อหาคือ คงไม่มีใครเถียงก็คือว่า งบประมาณโครงการนี้มันต้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนไข้อายุยืนยาวขึ้น คนไข้มากขึ้นเรื่อย ๆ คำถามสำคัญคงอยู่ที่ว่า โครงการนี้ คุ้มที่จะทำต่อไหม คำตอบก็คือ น่าจะคุ้มที่จะทำต่อ แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่า ต้องปรับเปลี่ยน แต่(ยัง) ไม่มีใครบอกว่า ยกเลิก ดังนั้นปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญเลยก็คือ เงินไม่พอ ... จากปัญหานี้ผมตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหาด้วยการ ร่วมจ่าย ณ ที่จุดบริการ ไม่ว่าจะเป็น 10, 20, หรือ 30% ยกตัวอย่าง คนไข้ผม จ่ายยา สามเดือน สามพันบาท จ่ายร่วม 10% = 300 จ่ายร่วม 20% = 600 จ่ายร่วม 30% = 900แต่ ป้าจะมา รพ.ที ยังต้องรอ รถเมล์ฟรี มารพ. หนึ่งวันรายได้หายไป 300ยังคิดแล้วคิดอีก คนไข้ผม ขับวิน มอเตอร์ไซค์ เกิดกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน ค่ารักษา 300,000 (อ่านว่า สามแสน) บาท จ่ายร่วม 10% = 30,000 ไม่อยากคิดต่อเลย )
เพจดังกล่าวยังระบุอีกว่า "ในขณะเดียวกัน ผมเห็นด้วยกับการร่วมจ่าย ในวิธีปฏิบัติที่ทำกันอยู่ ณ ปัจจุบัน นั่นก็คือใช้ภาษีที่ทุกคนร่วมกันจ่ายอยู่แล้ว ย้ำว่า ทุกคน ร่วมจ่ายอยู่แล้ว ทุกคนในประเทศไทย ร่วมกันจ่ายภาษี ทั้งทางตรง และทางอ้อม ไม่ได้มีใครได้รับการยกเว้นยากจนแค่ไหนก็ยังต้องจ่าย ทุกครั้งที่ซื้อสินค้าต่าง ๆ เงินจำนวนนี้แหละ ที่ผมถือว่าเป็นการ ร่วมจ่าย แล้ว ใครที่เข้าใจว่า มีแต่มนุษย์เงินเดือน หรือ ข้าราชการเท่านั้นที่จ่ายภาษีนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องครับ และหากงบประมาณไม่พอ สำหรับโครงการนี้ผมถือว่าเป็นหน้าที่ของ รัฐบาล ว่า จะหางบประมาณเพิ่มจากไหน หากผมเป็น รมต. สาธารณสุขผมไม่ร้องเรียกให้ ประชาชนร่วมจ่าย แต่จะลุกขึ้นร้องต่อรัฐบาลว่า หน้าที่ที่จะใช้เงินอย่างคุ้มค่า หน้าที่ที่จะรักษาชีวิตประชาชน หน้าที่ที่จะดูแลคุณภาพชีวิตให้ประชาชน เป็นหน้าที่ของผมส่วนหน้าที่ของคุณ ผู้เป็นรัฐบาลก็คือ หางบประมาณมาให้ผมใช้ ตราบใดที่ผมยังใช้มันได้อย่างสมเหตุสมผล งบไหน เรื่องใด สำคัญกว่ากัน คุ้มค่า คุ้มราคา ได้ประโยชน์มากกว่ากัน คุณต้องทำหน้าที่ชั่งตวงวัด หากกล้าหาญ และกล้ารับผิดชอบ ก็บอกออกมาเลยว่า เรื่องไหนมันสำคัญกว่ากัน งบประมาณไหน ที่รัฐบาลเห็นว่าสำคัญกว่าเรื่องนี้ก็บอกออกมา"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเพจ "เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล" มีการโพสต์เรื่องดังกล่าว ได้มีคนแชร์ข้อความดังกล่าวเกือบ 2 พันคน ส่วนใหญ่เห็นด้วย และโจมตีรัฐบาลว่า ไม่สมควรจะรื้อระบบบัตรทอง เพราะเป็นระบบที่ดูแลสุขภาพของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะคนที่มีฐานะยากจน
วันเดียวกัน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ตนทราบดีว่าเรื่องนี้จะต้องมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แต่อยากให้ทำความเข้าใจดีๆ เนื่องจากตนไม่เคยพูดว่า จะรื้อหรือล้มระบบหลักประกันสุขภาพฯแม้แต่ครั้งเดียว และยืนยันว่า ระบบนี้เป็นระบบที่ดีต่อประเทศ โดยนานาประเทศก็ชื่นชมกับระบบหลักประกันสุขภาพของไทย เพียงแต่ต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำภอย่างไรให้ระบบมีความมั่งคงและยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งไม่ได้หมายความว่า จะต้องให้ประชาชนมาร่วมจ่ายที่เรียกกันว่า โคว เพย์เมนท์ (Co-Payment) แต่จะทำอย่างไรก็อยู่ที่การประชุมในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะหารือร่วมกับคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีนายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการอิสระสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ และมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ สธ. เป็นประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งก็ต้องรับฟังก่อน เพราะคณะกรรมการทำการศึกษามาแล้ว ส่วนจะเป็นเดินหน้าอย่างไรก็ให้รอวันนั้น ซึ่งการจะทำเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าจะเริ่มเดินหน้าได้เลยปี 2559 กว่าจะคุยกว่าจะตกผลึกอาจต้องเป็นปี 2560 ด้วยซ้ำไป
"ตอนนี้มีแต่การตีความกันเองว่า จะมีการรื้อระบบ จะทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ อยากบอกว่าระบบก็ยังอยู่ต่อไป ไม่มีล้ม และไม่ไปกระทบประชาชนแน่นอน ที่บอกว่าจะต้องมีการหารือร่วมนั้น หมายถึงว่าต้องมาช่วยกันคิดร่วมกันกับคณะกรรมการที่ทำงานกันมาก่อนหน้านี้ ว่า จะมีวิธีใดทำให้ระบบยั่งยืนบ้าง ส่วนข้อเสนอต่างๆ ผมยินดีรับฟังทั้งหมด"รัฐมนตรีว่าการสธ. กล่าว
Source :- http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1451117252
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น